เร่งสอบต่างด้าวใช้นอมินีทำธุรกิจในไทย จ่อส่ง DSI ฟันเส้นทางการเงิน

นายจิตรกร ว่องเขตกร รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงกรณีคนต่างชาติถือวีซ่านักท่องเที่ยวแต่เข้ามาประกอบธุรกิจขายอาหารและเครื่องดื่มในไทยว่า กรมฯ ได้รับการประสานจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ให้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ลงพื้นที่ตรวจสอบการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวในไทยว่าเป็นการกระทำผิดตามกฎหมายฉบับใด ของหน่วยงานใดบ้าง เช่น ผิด พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ที่กรมฯ กำกับดูแลอยู่หรือไม่ โดยเฉพาะย่านเยาวราชที่เป็นข่าวอยู่ในขณะนี้

โดยการตรวจสอบการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ภายใต้ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวนั้น กรมฯ จะตรวจสอบว่า กรณีคนต่างด้าวที่เป็นนิติบุคคล หากขายอาหารและเครื่องดื่ม ได้รับการอนุญาตก่อนหรือไม่ เพราะตามพ.ร.บ.ฉบับนี้ นิติบุคคลต่างด้าว จะขายอาหารและเครื่องดื่มได้ ต้องขออนุญาตจากอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ที่มีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน หากไม่ขออนุญาตจะถือว่ามีความผิด

นอกจากนี้ จะตรวจสอบด้วยว่าหากนิติบุคคลต่างด้าวขายอาหารและเครื่องดื่ม โดยไม่ขออนุญาตก่อนนั้น มีคนไทยให้การช่วยเหลือ สนับสนุน หรือถือหุ้นแทนคนต่างด้าว (นอมินี) เพื่อให้คนต่างด้าวสามารถประกอบธุรกิจโดยหลีกเลี่ยง หรือฝ่าฝืนกฎหมายหรือไม่ หากพบว่ามีนอมินี จะมีความผิดอีกเช่นกัน

ส่วนกรณีต่างด้าวที่เป็นบุคคลธรรมดา ขายอาหารและเครื่องดื่ม ก็อาจเข้าข่ายมีความผิดกฎหมายแรงงาน ของกระทรวงแรงงาน ที่ห้ามต่างด้าวขายเช่นกัน หรืออาจผิดกฎหมายของกรุงเทพมหานคร (กทม.) กรณีการวางขายบนทางเท้า เป็นต้น

“การตรวจสอบกรณีนอมินี ไม่ง่าย เพราะต้องปรากฏพฤติการณ์ที่ชัดเจน หรือหลักฐานเอกสารที่แสดงว่าคนไทยมีพฤติกรรมตั้งใจปกปิด อำพราง หรือจัดทำเอกสารหลักฐานในลักษณะอำพราง ให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน หรือถือหุ้นแทนต่างด้าว ซึ่งจะมีความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับตั้งแต่ 1 แสน – 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และยังมีโทษปรับรายวันอีกวันละ 10,000 – 50,000 บาท จนกว่าจะเลิกฝ่าฝืน” นายจิตรกร กล่าว

พร้อมระบุว่า กรณีคนไทยเป็นนอมินีของคนต่างด้าวนั้น จากการตรวจสอบของกรมฯ พบว่ามีนิติบุคคลที่เข้าข่ายเป็นนอมินีเฉลี่ยปีละ 400-500 ราย ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ เข้ามาประกอบธุรกิจด้านการท่องเที่ยว และอสังหาริมทรัพย์ โดยใช้คนไทยถือหุ้นแทน ซึ่งหากพบกรณีที่อาจเข้าข่ายนอมินี กรมฯ จะส่งหนังสือเชิญให้มาชี้แจง หากไม่สามารถชี้แจงได้ หรือชี้แจงไม่สมเหตุผล จะถือว่ามีความผิดตามฐานเป็นนอมินี ตามพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว และจะส่งต่อให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สอบสวนในเชิงลึกถึงเส้นทางการเงินด้วย

อย่างไรก็ดี กรมฯ ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ดีเอสไอ, กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, กรมที่ดิน ฯลฯ ตรวจสอบกรณีนอมินีในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว อสังหาริมทรัพย์ ร้านอาหาร ฯลฯ มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 58 จนถึงปัจจุบัน ได้ดำเนินคดีกับนิติบุคคล หรือคนไทยที่เป็นนอมินีแล้ว 66 ราย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ม.ค. 66)

Tags: , , , ,
Back to Top