พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า กสทช.เตรียมปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุดโดยเร็ว ซึ่งคาดว่าจะใช้ระยะเวลาพิจารณาราว 6 เดือน หลังจากการประมูลที่ผ่านมา (15 ม.ค.66) มีผู้เข้าประมูล 3 ชุดจาก 5 ชุด โดยชุดที่ 1 และชุดที่ 5 ไม่มีผู้เสนอราคา
โดยเฉพาะชุดที่ 1 ที่มีตำแหน่งวงโคจร 50.5 และ 51 องศาตะวันออก ที่มีระยะเวลาที่ต้องใช้งานดาวเทียมภายในวันที่ 27 พ.ย. 67 หากไม่มีการใช้งาน จะถูกสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ยึดคืน ขณะที่ชุดที่ 5 ตำแหน่งวงโคจร 142 องศาตะวันออก ที่มีเงื่อนไขต้องใช้งานบนดาวเทียมให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี
ทั้งนี้ทั้งชุดที่ 1 และ ชุดที่ 5 ไม่มี Footprint ในพื้นที่ประเทศไทย ทำให้ไม่ได้รับความสนใจ เพราะตัองไปทำตลาดในต่างประเทศ แต่หากกสทช.เปิดให้ต่างชาติเข้ามาประมูลได้ก็หาถูกครหาขายชาติ ขณะที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 60 ระบุว้ากสทช.มีหน้าที่รักษาสิทธิเข้าใช้วงโคจร แต่เมื่อไม่มีความต้องการ ก็ไม่มีรายใดประมูลหรือเข้ามาขอใบอนุญาต ซึ่งจะทำให้กสทช.ต้องปรับปรุงแผนบริหารวงโคจร
“ส่วนตัวมองว่าการที่เอกชนไม่ประมูลวงโคจรดาวเทียมชุดที่ 1 และ 5 น่าจะเป็นเพราะวงโคจรอยู่ห่างจากประเทศไทยหากมีผู้ที่ได้วงโคจรไปต้องไปทำตลาดในต่างประเทศจึงไม่ได้รับความสนใจ”
พล.อ.ท.ธนพันธุ์ กล่าวว่า ที่ประชุมกรรมการกสทช. วันนี้ (18 ม.ค.) ได้รับรองผลการประมูลสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) ตามที่มีการจัดประมูลเมื่อวันที่ 15 ม.ค.66 โดยบริษัท สเปช เทค อินโนเวชัน จำกัดซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบมจ.ไทยคม (THCOM) ประมูลได้วงโคจรชุดที่ 2 และ ชุดที่ 3 (308,017,850 บาท และ 417,408,600 บาท ตามลำดับ) รวม 725,426,450 บาท บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) ประมูลได้วงโคจรชุดที่ 4 มูลค่า 9,076,200 บาท
ทั้งนี้ ชุดที่ 2 ตำแหน่งวงโคจร 78.5 องศาตะวันออก มีเงื่อนไขต้องส่งดาวเทียมภายใน 3 ปี หลังได้รับใบอนุญาต
ชุดที่ 3 ตำแหน่งวงโคจร 119.5 องศาตะวันออก และ 120 องศาตะวันออก เงื่อนไขสำคัญต้องส่งแผนคุ้มครองผู้ใช้บริการไทยคม 4 โดยเร่งด่วนหลังได้รับใบอนุญาต หลังจากไทยคม 4 จะสิ้นสุดอายุวิศวกรรมใน ก.ย.66 และส่งดาวเทียมภายใน 3 ปี
ชุดที่ 4 ตำแหน่งวงโคจร 126 องศาตะวันออก ยังไม่สามารถส่งดาวเทียมได้ทันที เพราะยังต้องประสานงานความถี่เสียก่อนและไม่ได้กำหนดว่าจะต้องส่งดาวเทียมกี่ปี แต่โดยปกติใช้เวลา 7 ปี
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ม.ค. 66)
Tags: กสทช., ดาวเทียม, ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ, วงโคจรดาวเทียม, สิทธิวงโคจรดาวเทียมใหม่