ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้แจงถึงกรณีมีข่าวพบผู้เสียหายจากการใช้งานสายชาร์จปลอม แล้วถูกดูดข้อมูลและโอนเงินออกจากบัญชีนั้น ธปท. ได้หารือสมาคมธนาคารไทย เพื่อตรวจสอบกรณีดังกล่าวแล้ว พบว่า ไม่ได้เกิดจากการใช้งานสายชาร์จปลอม แต่เกิดจากผู้เสียหายถูกมิจฉาชีพหลอกลวงให้ติดตั้งแอปพลิเคชันปลอมที่แฝงมัลแวร์ ทำให้มิจฉาชีพล่วงรู้ข้อมูลการทำธุรกรรมของลูกค้า และควบคุมเครื่องโทรศัพท์เพื่อสวมรอยทำธุรกรรมแทนจากระยะไกล เพื่อโอนเงินออกจากบัญชี โดยอาจเลือกทำธุรกรรมในช่วงเวลาที่ผู้เสียหายไม่ได้ใช้งานโทรศัพท์
ปัจจุบัน มิจฉาชีพมีวิธีหลอกลวงหลายรูปแบบ อาทิ SMS หลอกลวง แก๊งคอลเซ็นเตอร์ และแอปพลิเคชันให้สินเชื่อปลอม เป็นต้น และมีการปรับเปลี่ยนอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด ใช้การหลอกลวงให้ติดตั้งแอปพลิเคชันปลอมที่แฝงมัลแวร์ ซึ่ง ธปท. ได้ดำเนินการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา โดยการออกมาตรการต่างๆ ให้สถาบันการเงินต้องปฏิบัติ และร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.), สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อดำเนินการต่าง ๆ ได้แก่
- ปรับปรุงพัฒนาระบบรักษาความปลอดภัยบน Mobile Banking อย่างต่อเนื่อง
- ปิดกั้นเว็บไซต์หลอกลวง และตัดการเชื่อมต่อกับเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มิจฉาชีพใช้ควบคุมเครื่องผู้เสียหายจากระยะไกล
- แก้ไขปัญหา SMS หลอกลวง ที่แอบอ้างชื่อเป็นสถาบันการเงิน
- จัดให้มีช่องทางการรับแจ้งความออนไลน์ เพื่อให้ประชาชนแจ้งความได้สะดวก และอายัดบัญชีได้รวดเร็วขึ้น
- ประชาสัมพันธ์สร้างการตระหนักรู้ แจ้งเตือนภัย และให้คำแนะนำประชาชนอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม สถาบันการเงินจำเป็นต้องพัฒนาเครื่องมือ และการตอบสนองให้เท่าทันอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งการพัฒนากลไกความร่วมมือกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และขอความร่วมมือจากประชาชนเพิ่มความระมัดระวัง เพื่อมิให้ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ โดยสามารถป้องกันภัยในเบื้องต้นได้ ดังนี้
- ไม่คลิกลิงก์จาก SMS LINE และอีเมลที่มีแหล่งที่มาที่ไม่รู้จัก หรือไม่น่าเชื่อถือ
- ไม่ดาวน์โหลดโปรแกรม นอกเหนือจากแหล่งที่ได้รับการควบคุม และรับรองความปลอดภัยจากผู้พัฒนาระบบปฏิบัติการที่เป็น Official Store อาทิ Play Store หรือ App Store เท่านั้น
- อัปเดต Mobile Banking ให้เป็นเวอร์ชันล่าสุดอยู่เสมอ หรือตั้งค่าให้มีการอัปเดตแบบอัตโนมัติ ซึ่งจะมีมาตรการป้องกันการควบคุมเครื่องทางไกลรวมถึงมีการปรับปรุงพัฒนาระบบรักษาความมั่นคงปลอดภัยอย่างสม่ำเสมอ
- ไม่ใช้เครื่องโทรศัพท์มือถือที่ไม่ปลอดภัยมาทำธุรกรรมทางการเงิน อาทิ เครื่องที่ปลดล็อก (root/jailbreak) เพื่อให้สามารถติดตั้งแอปพลิเคชันใด ๆ ก็ได้ หรือใช้เครื่องที่มีระบบปฏิบัติการล้าสมัย เป็นต้น
- ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อให้การติดตามแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างรวดเร็ว และหากลูกค้าธนาคารพบธุรกรรมผิดปกติ สามารถติดต่อคอลเซ็นเตอร์ หรือสาขาของธนาคารที่ลูกค้าใช้งาน เพื่อแจ้งตรวจสอบและยืนยันความถูกต้องของธุรกรรมในทันที โดยธนาคารจะดูแลแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด
ทั้งนี้ธปท. ได้เน้นย้ำให้สถาบันการเงินมีมาตรการดูแลลูกค้าทุกรายอย่างเต็มที่ ตามขั้นตอนปฏิบัติที่กำหนด ซึ่งหากได้ตรวจสอบและพิสูจน์พบว่าลูกค้าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการให้ข้อมูลส่วนตัว สถาบันการเงินต้องรีบพิจารณาช่วยเหลือ และดูแลความเสียหายของลูกค้าโดยเร็วภายใน 5 วัน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ม.ค. 66)
Tags: ธนาคารแห่งประเทศไทย, ธปท., มิจฉาชีพ, หลอกลวง, แอปพลิเคชัน