![](https://www.infoquest.co.th/wp-content/uploads/2023/01/2E0D43E58EC59091F01D28FCCFCC0A2B.jpg)
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า คณะนักวิจัยชาวจีนได้พัฒนาวิธีการสังเคราะห์แป้งเทียมและโปรตีนจากจุลินทรีย์ (microbial proteins) ที่มีประสิทธิภาพสูงด้วยการใช้ซังข้าวโพด ซึ่งวิธีการนี้สามารถลดต้นทุนการผลิตแป้งเทียมและนำเสนอทางเลือกใหม่ในการผลิตอาหาร
รายงานระบุว่า จำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้นและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ก่อให้เกิดความท้าทายอย่างมากต่อความมั่นคงทางอาหาร ดังนั้น การเปลี่ยนของเสียทางการเกษตรให้กลายเป็นอาหารเทียมจึงนับเป็นวิธีการสำคัญในการบรรเทาวิกฤตการณ์ด้านอาหารและบรรลุเป้าหมายการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน
คณะนักวิจัยจากสถาบันวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพ สังกัดสถาบันวิทยาศาสตร์การเกษตรจีน (CAAS) และสถาบันอื่นๆ ในจีน ได้ใช้ระบบโมเลกุลเอนไซม์หลากชนิด (multi-enzyme) และยีสต์ของขนมปัง เพื่อเปลี่ยนเซลลูโลส (cellulose) ในซังข้าวโพดให้เป็นแป้งเทียม และผลิตโปรตีนจากจุลินทรีย์ด้วยกระบวนการหมักภายใต้สภาวะที่มีก๊าซออกซิเจน (aerobic conditions)
ผลการศึกษาพบว่า กระบวนการผลิตทั้งหมดใช้เงินลงทุนค่าอุปกรณ์เพียงเล็กน้อย และไม่ต้องใช้โคเอนไซม์ (coenzyme) หรือพลังงาน รวมถึงไม่นำไปสู่การสูญเสียน้ำตาล ซึ่งก่อให้เกิดความเป็นไปได้ในการผลิตแป้งเทียมและโปรตีนจากจุลินทรีย์ด้วยต้นทุนต่ำ
ทั้งนี้ ผลการศึกษาข้างต้นได้รับการตีพิมพ์ในวารสารไซเอนซ์ บูลเลติน (Science Bulletin)
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ม.ค. 66)
Tags: XINHUA, ข้าวโพด