นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ว่า การที่รัฐบาลตอบกลับว่ามีความพร้อมตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ.เป็นต้นไปนั้น ถือเป็นเวลาที่เนิ่นนานเกินไป จึงได้ทำหนังสือทักท้วงไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งประธานสภาฯ ก็เห็นพ้องกับฝ่ายค้าน เพราะปกติหลังยื่นญัตติฯ จะมีการอภิปรายภายใน 1 เดือน
สำหรับกรอบการอภิปรายนั้น จะสอบถามข้อเท็จจริง เสนอแนะครอบคลุมทุกประเด็นในสังคม เช่น ยาเสพติด ทุนจีนสีเทา การแต่งตั้งโยกย้ายราชการ ส่วนเนื้อหาสาระและกรอบเวลา นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน จะเป็นผู้ดูแล โดยฝ่ายค้านต้องการกรอบเวลาในการอภิปราย 22 ชั่วโมง
หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคฯ ให้ความสำคัญกับการอภิปรายครั้งนี้ เพราะถือเป็นครั้งสุดท้าย แม้จะไม่มีการลงมติในสภาฯ แต่ประชาชนจะตัดสินใจในการเลือกตั้ง ดังนั้นผู้อภิปรายจะถูกคัดเลือกและมอบหมายจากพรรค เพราะพรรคมั่นใจว่าจะสามารถนำเสนอประเด็นที่เป็นประโยชน์ได้
นพ.ชลน่าน ยอมรับว่า มีความกังวลว่ารัฐบาลจะยุบสภาเพื่อหนีการอภิปรายฯ ซึ่งเห็นได้จากการตอบกลับความพร้อมที่เนิ่นนานเกินไป ซึ่งผิดปกติว่าจะหนีการอภิปรายหรือไม่ ประกอบกับกระแสข่าวว่ารัฐบาลจะยุบสภาก่อนวันที่ 15 ก.พ.66 ดังนั้นคำตอบว่าพร้อมหลังวันที่ 15 ก.พ.66 คือการหลีกเลี่ยงหรือหนีการอภิปรายหรือไม่
“อยากฝากไปถึงผู้มีอำนาจ ถ้าหนีสภาให้คิดดีๆ เพราะประชาชนจะพิพากษาในสนามเลือกตั้ง ควรใช้โอกาสในสภา ตอบชี้แจงที่อาจจะได้ใจประชาชนบ้าง” หัวหน้าพรรคเพื่อไทยระบุ
ส่วนช่วงเวลาที่คาดว่ารัฐบาลจะยุบสภานั้น นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ต้องติดตาม โดยเฉพาะหลังวันที่ 6 ก.พ.เป็นต้นไป ซึ่งจะเป็นการย้ายสังกัดพรรควันสุดท้าย ถ้า ส.ส.ที่เคยประกาศตัวชัดเจนยังไม่ย้ายพรรคไปไหน แสดงว่ามีโอกาสที่จะยุบสภาได้ ซึ่งได้ข่าวมาว่ามีการดูฤกษ์งามยามดีในการยุบสภา เพื่อให้ได้กลับมามีโอกาสสืบทอดอำนาจ คือ วันที่ 14 ก.พ., 24 ก.พ. และ 7 มี.ค. หากตรงตามข่าวยุบสภาก่อนวันที่ 15 ก.พ. ก็คือวันที่ 14 ก.พ. ซึ่งเป็นวันแห่งความรัก และต่อให้ถือฤกษ์ยาม แต่ฤกษ์งามยามดีของประชาชนก็คือวันเข้าคูหากาบัตรเลือกตั้ง ซึ่งถือเป็นวันพิพากษา
หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การที่รัฐบาลเพิ่มเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐช่วงใกล้เลือกตั้ง เป็นการชิงความได้เปรียบทางการเมือง แต่ก็ดีใจกับประชาชนที่ได้เงินเพิ่ม หลังรัฐบาลทำงานมา 8 ปี เพิ่งจะมาเพิ่มในช่วงท้ายของรัฐบาล และเชื่อว่าประชาชนรู้ว่า เงินที่ได้คือภาษีของประชาชน ดังนั้นจึงเป็นวิธีคิดที่ผิดมาก และประชาชนคงไม่ลงคะแนนให้
ส่วนกรณีที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ในทำนองไม่ได้ปิดโอกาสจับมือกับพรรคพลังประชารัฐ ในการจัดตั้งรัฐบาลนั้น นพ.ชลน่าน กล่าวว่า น.ส.แพทองธาร ไม่ได้พูดออกมาว่าจะจับมือกับใคร แต่พูดในหลักการเท่านั้น ซึ่งส่วนตัวได้ย้ำมาตลอดว่า การประกาศจับมือกันก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง ถือเป็นมารยาทที่ไม่ดีทางการเมือง ไม่เคารพอำนาจประชาชน เพราะยังไม่รู้เลยว่าประชาชนจะมอบอำนาจให้ใคร ถ้าถึงเวลาที่ชัดเจนว่าประชาชนให้อำนาจกับพรรคเพื่อไทยเกิน 250 เสียง การตั้งรัฐบาลจะมีโอกาสเลือกพรรคการเมืองมาร่วมงานได้
ดังนั้น การจะจับมือกับใคร พรรคจะดูเสียงที่ประชาชนมอบให้เป็นหลัก และก่อนจะจับมือกับพรรคใดนั้น จะไปถามประชาชนอีกครั้ง และต้องไปถามพรรคพลังประชารัฐว่ามีอุดมการณ์เดียวกันหรือไม่
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 ม.ค. 66)
Tags: การเมือง, ชลน่าน ศรีแก้ว, ฝ่ายค้าน, พรรคเพื่อไทย, ยุบสภา, รัฐธรรมนูญ, รัฐบาล