ตลาดการเงินทั่วโลกจับตาผลการประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในวันพุธที่ 18 ม.ค.นี้ ขณะที่เทรดเดอร์คาดการณ์ว่า คณะกรรมการ BOJ อาจจะปรับนโยบายควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทน (Yield Curve Control – YCC) อีกครั้งในการประชุมครั้งนี้ หรืออาจจะประกาศยกเลิกนโยบาย YCC หลังจากที่ BOJ เคยปรับนโยบาย YCC ไปแล้วด้วยการขยายกรอบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นในการประชุมเมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2565
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ก่อนหน้านี้นักลงทุนพยายามกดดันให้ BOJ ยุตินโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษ (ultraloose monetary policy) ซึ่งแรงกดดันดังกล่าวส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นประเภทอายุ 10 ปีพุ่งขึ้นแตะ 0.54% ในวันศุกร์ที่ผ่านมา (13 ม.ค.) ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่กลางปี 2558 และสูงกว่ากรอบ -0.5% ถึง +0.5% ที่ BOJ กำหนดไว้ในการประชุมวันที่ 20 ธ.ค.
นักวิเคราะห์ระบุว่า นักลงทุนในตลาดหุ้นเอเชียซื้อขายอย่างระมัดระวัง เนื่องจากมีการคาดการณ์เพิ่มมากขึ้นว่า BOJ อาจปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินเพิ่มเติมในการประชุมวันพุธนี้
“ไม่มีใครทราบว่าจะเกิดอะไรขึ้นในที่ประชุม BOJ สัปดาห์นี้ แต่อาจสร้างความผิดหวังก็เป็นได้ อย่างไรก็ดี ผมไม่คิดว่า BOJ จะตัดสินใจอย่างแข็งกร้าวในเรื่องนี้ ดังนั้นเงินเยนอาจจะพลิกจากการแข็งค่ามาเป็นอ่อนค่าลง และดัชนีนิกเกอิอาจจะพลิกจากการปรับตัวลงมาเป็นการพุ่งขึ้นก็ได้” นายเคนจิ อาเบะ นักกลยุทธ์ของบริษัทไดวะ ซีเคียวริตี้ส์ระบุ
ขณะที่นายเรย์ อัตทริล หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์ FX ของธนาคารเนชันแนล ออสเตรเลีย แบงก์ (NAB) กล่าวว่า “ผมเชื่อว่าทั่วโลกจะจับตาผลการประชุม BOJ ในวันพุธนี้อย่างใกล้ชิด โดยอาจเป็นสัปดาห์ที่เงินเยนจะเป็นตัวกำหนดทิศทางความเคลื่อนไหวของสกุลเงินต่าง ๆ ในกลุ่มประเทศ G10”
อนึ่ง ในการประชุมเมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2565 คณะกรรมการ BOJ ประกาศขยายกรอบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของรัฐบาลญี่ปุ่น โดยให้เคลื่อนไหวในช่วง -0.5% ถึง +0.5% จากเดิมที่อยู่ในกรอบ -0.25% ถึง +0.25% ซึ่งสร้างความตื่นตระหนกให้กับตลาดเงินและถูกมองว่าเป็นการความเคลื่อนไหวเพื่อยุติการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 ม.ค. 66)
Tags: BOJ, ญี่ปุ่น, ธนาคารกลางญี่ปุ่น, นโยบายการเงิน, บอนด์ยีลด์, พันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น