คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เผยผลการประมูลใบอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม วันนี้มีผู้เสนอราคาประมูลจำนวน 3 ชุด จาก 5 ชุด คือชุดที่ 2, 3 และ 4 ตามที่ กสทช.เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้า มูลค่ารวม 806,502,650 บาท โดยมีผู้เข้าประมูล 3 ราย คือ บริษัท สเปซ เทค อินโนเวชัน จำกัด ซึ่งบริษัทย่อยของ บมจ.ไทยคม (THCOM) , บจม.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) และบริษัท พร้อม เทคนิคคอล เซอร์วิสเซส จำกัด
นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการ กสทช. เปิดเผยว่า ผลการประมูลใบอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) 3 ชุด ได้แก่ ชุดที่ 2 ผู้ชนะประมูล คือ บริษัท สเปซ เทค อินโนเวชั่นจำกัด ราคาสุดท้ายที่ 380,017,850 บาท ชุดที่ 3 ผู้ชนะประมูล ได้แก่ บริษัท สเปซ เทค อินโนเวชั่น จำกัด ราคาสุดท้ายที่ 417,408,600 บาท และ ชุดที่ 4 ผู้ชนะประมูล ได้แก่ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ ราคาสุดท้ายที่ 9,076,200 บาท
โดยบริษัท พร้อม เทคนิคคอล เซอร์วิสเซส จำกัด ได้เข้าเคาะราคาในชุดที่ 2 แต่ไม่สู้ราคาต่อ สำหรับชุดที่ 1 และชุดที่ 5 ไม่มีผู้เสนอราคา
ประธานบอร์ด กสทช. กล่าวว่า การประมูลวันนี้เริ่มต้นเมื่อเวลา 10.00 น. และได้สิ้นสุดเวลา 11.36 น. ใช้เวลาในการประมูลรวมทั้งสิ้น 1 ชั่วโมง 36 นาที หลังจากนี้ บอร์ด กสทช.จะรับรองผลการประมูลภายใน 7 วัน ซึ่งผู้ชนะการประมูลจะชำระใบอนุญาตงวดแรก 10% ของราคาสุดท้ายภายใน 90 วัน งวดที่ 2 ชำระ 40% ในปีที่ 4 และงวดที่ 3 ชำระ 50% ในปีที่ 6 ทั้งนี้ใบอนุญาตฯ จะมีอายุ 20 ปี
พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการ กสทช. กล่าวว่า ภาพรวมการประมูลวันนี้ไม่มีข้อขัดข้อง และการประมูลครั้งนี้ที่เป็นใบอนุญาตวงโคจรดาวเทียมที่รองรับทั้งบรอดแบนด์และบรอดคาสท์ สำหรับชุดที่ 1 และ ชุดที่ 5 ที่ไม่รายใดเสนอราคาประมูล ทางบอร์ด กสทช.จะหารือร่วมกันว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
“เป็นการประมูลดาวเทียมครั้งแรกที่เปลี่ยนจากระบบสัมปทานเป็นใบอนุญาต เดิมมีรายเดียวคือ บมจ.ไทยคม แต่ตอนนี้มีผู้เล่น 2 รายแล้วเราก็ดีใจที่ทำให้เกิดผู้เล่นรายใหม่” พล.อ.ท.ธนพันธุ์ กล่าว
โดยลำดับแรกที่เปิดประมูล คือ ชุดที่ 4 ตำแหน่งวงโคจร 126 องศาตะวันออก ราคาเริ่มต้น 8,644,000 บาท มีการเคาะราคา 1 รอบ มาที่ราคา 9,076,200 บาท เพิ่มขึ้นมา 432,000 บาท โดยใช้เวลาเพียง 2 นาที
ลำดับที่ 2 คือ ชุดที่ 3 ตำแหน่งวงโคจร 119.5 องศาตะวันออก ซึ่งเป็นตำแหน่งของดาวเทียมไทยคม 4 ที่ใกล้จะหมดอายุสัมปทานในเดือน ก.ย.66 ที่ใช้สำหรับบรอดแบนด์ ราคาเริ่มต้น 397,532,000 บาท มีการเคาะราคาเพียงรอบเดียวเช่นกัน มาจบที่ราคา 417,408,600 บาท ราคาเพิ่มขึ้นมา 19,876,600 บาท หรือเพิ่มขึ้น 5% ใช้เวลาประมูล 6 นาที
ลำดับที่ 3 ประมูลชุดที่ 5 ตำแหน่งวงโคจร 142 องศาตะวันออก ราคาเริ่มต้น 189,385,000 บาท ไม่มีรายใดเสนอราคาประมูล
ลำดับที่ 4 เป็นการประมูลชุดที่ 2 ตำแหน่งวงโคจร 78.5 องศาตะวันออก ที่ใช้สำหรับรองรับ Broadcast ซึ่งตำแหน่งวงโคจรนี้ยังมีดาวเทียม 2 ดวงใช้งานอยู่ ได้แก่ ไทยคม 6 ซึ่ง บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) บริหารอยู่ และไทยคม 8 ที่ บมจ.ไทยคม (THCOM) บริหารอยู่ โดยมีราคาเริ่มต้น 360,017,000 บาท มีการเคาะราคา 2 รอบ โดยรอบแรกเคาะราคามาที่ 378,017,850 บาท เพิ่มขึ้น 18,000,850 บาท และรอบที่ 2 เคาะราคาขึ้นมาเพียง 2,000,000 บาท มาเป็น 380,017,850 บาท แต่ไม่ถึงราคาเคาะตามรอบที่ 396,018,700 บาท โดยใช้เวลาประมูล 11 นาที
ลำดับสุดท้ายเป็นการประมูลชุดที่ 1 ตำแหน่งวงโคจร 50.5 องศาตะวันออก ที่ใช้สำหรับ Broadcast โดยชุดนี้มีเงื่อนไขสำคัญว่าจะต้องยิงดาวเทียมภายในเดือน พ.ย.67 เพราะประเทศไทยจำเป็นต้องรักษาสิทธิไว้กับสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) โดยชุดนี้ไม่มีรายใดเสนอราคาประมูล
ทั้งนี้ การประมูลการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด โดย กสทช.ถือเป็นการจัดสรรวงโคจรดาวเทียมด้วยวิธีประมูลเป็นครั้งแรก และเปลี่ยนจากระบบการให้สิทธิจากระบบสัมปทานเป็นระบบใบอนุญาต ทั้งนี้ การประมูลมีเงื่อนไขของผู้ประมูลได้ คือ วงโคจรทุกชุดจะต้องแบ่งให้รัฐใช้ 1 ทรานสปอนเดอร์ หากใช้เพื่อให้บริการบรอดแบนด์รัฐที่ 400 เมกกะบิตต์ สำหรับแพคเก็จที่ไม่มีผู้ประมูล กสทช.จะพิจารณาต่อไปว่าจะดำเนินการอย่างไร
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ม.ค. 66)
Tags: THCOM, กสทช., ดาวเทียม, ประมูลดาวเทียม, ไทยคม