สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันศุกร์ (13 ม.ค.) โดยปรับตัวขึ้นมากกว่า 1 ดอลลาร์ และปรับตัวขึ้นรายสัปดาห์มากที่สุดนับตั้งแต่เดือนต.ค. เนื่องจากดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 7 เดือน และมีสัญญาณบ่งชี้ถึงอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นจากจีนซึ่งเป็นประเทศนำเข้าน้ำมันรายใหญ่
ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.พ. เพิ่มขึ้น 1.47 ดอลลาร์ หรือ 1.9% ปิดที่ 79.86 ดอลลาร์/บาร์เรล และปรับตัวขึ้น 8.4% ในรอบสัปดาห์นี้
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 1.25 ดอลลาร์ หรือ 1.5% ปิดที่ 85.28 ดอลลาร์/บาร์เรล และปรับตัวขึ้น 8.6% ในรอบสัปดาห์นี้
ดัชนีดอลลาร์ร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบกว่า 7 เดือน หลังการเปิดเผยข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เมื่อวันพฤหัสบดีบ่งชี้ว่าเงินเฟ้อในสหรัฐลดลงในเดือนธ.ค.เป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปีครึ่ง ซึ่งเพิ่มความหวังว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.08% สู่ระดับ 102.2110
ดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงมีแนวโน้มหนุนความต้องการน้ำมัน เนื่องจากทำให้ราคาน้ำมันถูกลงสำหรับผู้ซื้อที่ถือสกุลเงินอื่น ๆ
การสั่งซื้อน้ำมันดิบของจีนในช่วงที่ผ่านมา และการสัญจรบนถนนที่เพิ่มขึ้นได้เพิ่มความหวังว่า ความต้องการใช้น้ำมันของจีนจะฟื้นตัวขึ้น หลังจากการเปิดพรมแดน และการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคโควิด-19
นักวิเคราะห์ของยูบีเอสให้ความเห็นว่า นักลงทุนจะมุ่งความสนใจไปที่ความต้องการน้ำมันที่ฟื้นตัวขึ้นของจีน และปัจจัยดังกล่าวได้ช่วยหนุนราคาน้ำมัน โดยตลาดจะจับตาการนำเข้าน้ำมันดิบของจีน และการปรับเพิ่มคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันขององค์กรด้านพลังงาน อาทิ กลุ่มผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และสำนักงานพลังงานสากล (IEA)
โอเปกและพันธมิตรรวมถึงรัสเซียจะประชุมกันในเดือนก.พ.เพื่อประเมินภาวะตลาดน้ำมัน และมีความวิตกว่า โอเปกอาจจะปรับลดการผลิตน้ำมันลงอีกเพื่อหนุนราคาที่ปรับตัวลงในช่วงที่ผ่านมา
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ม.ค. 66)
Tags: น้ำมัน, น้ำมัน WTI, ราคาน้ำมัน