คณะกรรมการวินิจฉัยภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง มีมติอนุมัติให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) มีอำนาจออกข้อบัญญัติจัดเก็บภาษีที่ดิน ในส่วนอัตราเกษตรกรรมได้เต็มเพดานสูงสุด 0.15% หรือล้านละ 1,500 บาทหากนำที่ดินนอกโซนสีเขียวมาประกอบการเกษตร จากข้อกำหนดในกฎหมายที่ให้อัตราการจัดเก็บเปิดช่องยืดหยุ่นได้ตั้งแต่ 0.01-0.05%
ก่อนหน้านี้ การเก็บภาษีที่ดินได้มีการกำหนดอัตราภาษีแนะนำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ รวมถึง กทม.ใช้ในการจัดเก็บ โดยกรณีที่ดินเพื่อการเกษตร มูลค่า 0-75 ล้านบาท จัดเก็บอัตรา 0.01% คิดเป็นล้านละ 100 บาท, มากกว่า 75-100 ล้านบาท จัดเก็บอัตรา 0.03% คิดเป็นล้านละ 300 บาท , 100-500 ล้านบาท จัดเก็บอัตรา 0.05% คิดเป็นล้านละ 500 บาท, 500-1,000 ล้านบาท จัดเก็บในอัตรา 0.07% คิดเป็นล้านละ 700 บาท
ดังนั้น จากมติดังกล่าวของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีจะมีผลทำให้ กทม. ปรับเพิ่มอัตราภาษีที่ดินเพื่อให้เจ้าของที่ดินในโซนที่มีมูลค่าสูงและไม่ได้ประกอบการอาชีพเกษตรกรรมจริง แต่ปลูกพืชเพื่อใช้ช่องหลีกเลี่ยงภาษี จะต้องจ่ายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงได้มากที่สุด รวมถึงเป็นแนวทางการจัดเก็บภาษีอื่นๆ เพิ่มเติมเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน เนื่องจากรายได้จากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ถือเป็นหนึ่งในรายได้สำคัญของกทม.
การปรับปรุงอัตราจัดเก็บภาษีที่ดินของ กทม.ครั้งนี้เป็นผลมาจาก นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการ กทม. มีแนวคิดปิดช่องว่างทางกฎหมายที่บรรดาเจ้าสัวที่ดิน (แลนด์ลอร์ด) หลบเลี่ยงการจ่ายภาษีที่ดินรกร้างไม่ได้ใช้ประโยชน์ในอัตราสูง 3% ด้วยการนำที่ดินไปปลูกพืชผักผลไม้เพื่อหวังจะจ่ายภาษีที่ดินในประเภทเกษตรกรรมที่ต่ำกว่าประเภทที่ดินเปล่าค่อนข้างมาก กทม.จึงทำนังสือหารือกับกระทรวงการคลังเพื่อขอเก็บภาษีที่ดินเพื่อการเกษตรไม่ว่าจะเป็นที่ดินที่มีมูลค่าเท่าใดในอัตราสูงสุดชนเพดาน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ม.ค. 66)
Tags: ภาษีที่ดิน, เก็บภาษี, ไร่กล้วย