ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2566 ขึ้นมาอยู่ที่ 3.7% จากเดิมคาด 3.2% เนื่องจากมองว่าการเปิดประเทศเร็วกว่าคาดของจีน ส่งผลบวกต่อภาคการท่องเที่ยว และการส่งออกไทย โดยในปีนี้ คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาราว 4.65 ล้านคน ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยรวม อยู่ที่ราว 25.5 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่ราว 22 ล้านคน
ขณะที่การส่งออกโดยรวมอยู่ที่ -0.5% หดตัวน้อยลงจากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่ -1.5% เนื่องจากการส่งออกสินค้าไปจีน โดยเฉพาะหมวดสินค้าผู้บริโภคคาดว่าจะขยายตัวมากขึ้น แม้ว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกในภาพรวม จะยังคงกดดันการส่งออกไทยอยู่
ทั้งนี้ จากการเปิดประเทศของจีน ที่ส่งผลให้การจับจ่ายและการผลิตในประเทศจีน ทยอยกลับมาเป็นปกติตั้งแต่เริ่มเปิดปี 2566 อีกทั้งยังหนุนให้ราคาพลังงานยืนในระดับที่สูงต่อเนื่อง จึงส่งผลต่อการส่งออกของไทย ทั้งทางตรง และทางอ้อม ดังนี้
- ผลทางตรงจากเศรษฐกิจจีนอาจโตดีกว่าที่คาด สัดส่วนการส่งออกไทยไปจีนสูงถึง 12% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย ซึ่งการเปิดประเทศจีนอย่างรวดเร็ว กระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจจีนให้ฟื้นกลับมาตั้งแต่ต้นปี ส่งผลให้ GDP จีนคาดการณ์ปี 2566 นี้อาจจะเติบโตได้มากกว่า 4.0% โดยสินค้าส่งออกไทยไปจีนที่น่าจะได้ประโยชน์มากสุด อยู่ที่สินค้าที่ตอบโจทย์การบริโภคในกลุ่มอาหารเป็นหลัก อาทิ ผลไม้ ผลไม้กระป๋อง ข้าว ไก่ กุ้ง น้ำตาล
รวมถึงสินค้าเพื่ออุตสาหกรรม และสินค้าเพื่อการผลิต มีสัญญาณว่าน่าจะทำตลาดได้มากกว่าเดิม ด้วยกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ไร้ข้อจำกัดจากการปลดล็อกมาตรการโควิดเป็นศูนย์ แต่จากการกระจายฐานการผลิตออกจากจีนในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับภาพเศรษฐกิจโลกที่ยังอ่อนแรง ส่งผลให้การผลิตและส่งออกของจีนคงทำได้อย่างจำกัด ทำให้การส่งออกสินค้ากลุ่มนี้เติบโตเชื่องช้ากว่าสินค้าส่งออกในกลุ่มการบริโภค อาทิ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ผลิตภัณฑ์ยาง และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ
นอกจากนี้ การเปิดประเทศจีนยังทำให้ราคาพลังงานในปีนี้ปรับตัวลดลงจากปีก่อนหน้าเพียงเล็กน้อย ทำให้การส่งออก สินค้าโภคภัณฑ์ที่อิงกับราคาน้ำมันจึงยังปรับตัวลดลงจากปีก่อน
“แม้มีภาพบวกจากหลายกลุ่มสินค้า แต่สินค้าอาหารที่มีทิศทางสดใสที่สุด มีสัดส่วนเพียง 20% ของการส่งออกไปจีน และสินค้าที่เหลือล้วนมีข้อจำกัดในการเติบโต บวกกับผลของฐานในปีที่แล้วที่ทำสถิติสูงเป็นประวัติการณ์ จึงทำให้การส่งออกไปจีนเติบโตเลขหลักเดียวที่ 3.4%” บทวิเคราะห์ระบุ
- ผลทางอ้อมจากเศรษฐกิจคู่ค้าของไทยในเอเชีย น่าจะได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวของจีนเช่นเดียวกับไทย แต่มีผลต่อการส่งออกจากไทยจำกัด โดยอาเซียนและญี่ปุ่น แม้จะได้อานิสงส์จากเศรษฐกิจจีนเข้ามาช่วยขับเคลื่อนการส่งออก และเศรษฐกิจของแต่ละประเทศให้เติบโตได้มากขึ้น แต่อานิสงส์ต่อการส่งออกของไทยในแทบทุกกลุ่มสินค้าเป็นไปอย่างจำกัด ขณะที่การส่งออกไปอาเซียนยังมีแรงฉุดด้านราคาสินค้าโภคภัณฑ์น้ำมัน แร่ น้ำตาลทราย และทองคำ ที่เป็นสินค้าส่งออกหลักของไทยไปหลายประเทศ ยกเว้นการส่งออกของไทยไปเวียดนาม มาเลเซียและอินโดนีเซียยังคงเติบโต
สำหรับการส่งออกไปสหรัฐฯ และยุโรป ยังไม่เปลี่ยนภาพ เนื่องจากยังเผชิญภาวะเศรษฐกิจในปี 2566 ที่คาดว่าจะชะลอตัวลงอย่างมาก อย่างไรก็ดี ตลาดใหม่ เช่น ตลาดตะวันออกกลาง และอินเดีย มีศักยภาพเติบโตไม่ต่ำกว่าเลข 2 หลัก ก็ยังเป็นแรงส่งสำคัญสำหรับภาพรวมการส่งออกไทยตลอดปี 2566
“การเปิดประเทศจีน มีผลให้การส่งออกไทยไปจีนในภาพรวมดีขึ้นจากที่ประเมินไม่เติบโตเป็นขยายตัว 3.4% ในขณะที่ผลบวกโดยอ้อมผ่านเศรษฐกิจคู่ค้าอื่นๆ มีอย่างจำกัด ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับคาดการณ์การส่งออกของไทยปี 2566 ให้หดตัวลดลงเป็น -0.5% (คาดการณ์เดิมที่ -1.5% ณ ธ.ค.65) จากตลาดส่งออกจีนเป็นหลัก โดยสินค้าที่หลักที่ได้อานิสงส์จะอยู่ในกลุ่มอาหาร ที่เรียกได้ว่ามีทิศทางที่ดีขึ้นในทุกตลาด” บทวิเคราะห์ระบุ
ขณะที่ ในด้านของเงินเฟ้อ การผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด และการเปิดประเทศเร็วกว่าคาดของจีน เป็นปัจจัยหนุนให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในภาพรวมทรงตัวอยู่ในระดับสูงเป็นระยะเวลานาน แม้จะได้รับแรงกดดันจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะจากสหรัฐฯ และยูโรโซน แต่ปัจจัยการเปิดประเทศของจีนคาดว่าไม่ส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์เร่งตัวเท่ากับปี 2565 ที่เป็นจุดเริ่มต้นของสงครามรัสเซีย-ยูเครน โดยคาดว่าราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปี จะอยู่ที่ราว 90 ดอลลาร์/บาร์เรล ลดลงจากค่าเฉลี่ยในปี 2565 ที่อยู่ที่ราว 97 ดอลลาร์/บาร์เรล
“เงินเฟ้อไทย คาดว่าจะอยู่ที่ราว 3.2% ในปีนี้ เนื่องจากการส่งผ่านต้นทุนจากผู้ประกอบการไปยังผู้บริโภคตามภาระต้นทุนค่าไฟ รวมถึงค่าแรงที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับแนวโน้มราคาน้ำมันในประเทศที่อาจไม่ปรับลดลงเร็ว เนื่องจากภาครัฐยังมีภาระกองทุนน้ำมันที่ยังขาดดุลในระดับสูง” บทวิเคราะห์ระบุ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ม.ค. 66)
Tags: ท่องเที่ยว, ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, เศรษฐกิจไทย