มูลค่าตลาดคริปโทเคอร์เรนซีที่ทรุดตัวลงเกือบ 1.4 พันล้านดอลลาร์ในปี 2565 ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสินทรัพย์ดั้งเดิม เช่น หุ้น หรือเศรษฐกิจที่แท้จริง แต่นายเอสวาร์ ปราสาท อาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยคอร์เนลออกโรงเตือนว่า ความล้มเหลวของเหรียญสเตเบิลคอยน์อาจส่งผลกระทบต่อตลาดตราสารหนี้สหรัฐ
ทั้งนี้ สเตเบิลคอยน์คือสกุลเงินดิจิทัลประเภทหนึ่งที่ถูกตรึงเอาไว้กับสกุลเงินดั้งเดิมแบบ 1 ต่อ 1 เช่น เงินดอลลาร์สหรัฐ หรือยูโร โดยสเตเบิลคอยน์ขนาดใหญ่ที่สุดในปัจจุบันได้แก่ เหรียญเทเธอร์ (USDT) เหรียญยูเอสดี คอยน์ (USDC) และไบแนนซ์ ยูเอสดี (BUSD)
สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า การที่สเตเบิลคอยน์ได้กลายมาเป็นเสาหลักของเศรษฐกิจคริปโทฯในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากทำให้นักลงทุนสามารถแลกเปลี่ยนคริปโทฯสกุลต่าง ๆ ได้โดยไม่ต้องเสียเวลาแปลงเป็นเงินสกุลดั้งเดิมก่อน
บรรดาผู้ออกเหรียญสเตเบิลคอยน์ต่างใช้สินทรัพย์ที่แท้จริง เช่น เงินตราดั้งเดิม หรือตราสารหนี้ เป็นหลักประกันเหรียญสเตเบิลคอยของทางบริษัท ดังนั้น ผู้ถือเหรียญสเตเบิลคอยน์จึงสามารถเปลี่ยนเหรียญสเตเบิลคอยน์ของตนเป็นสินทรัพย์ที่แท้จริงได้
บริษัทเทเธอร์เปิดเผยว่า พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐคิดเป็นสัดส่วนกว่า 58% หรือประมาณ 3.97 หมื่นล้านดอลลาร์ของทุนสำรองของบริษัท ขณะที่เซอร์เคิล (Circle) บริษัทผู้เบื้องหลังเหรียญ USDC นั้น ถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอยู่ประมาณ 1.27 หมื่นล้านดอลลาร์ ส่วนแพกซอส (Paxos) ซึ่งออกเหรียญ BUSD ระบุว่าบริษัทถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐประมาณ 6 พันล้านดอลลาร์ โดยตัวเลขเหล่านี้มาจากรายงานฉบับล่าสุดของบริษัท ซึ่งเปิดเผยในเดือนพ.ย.
แม้ยังไม่มีสัญญาณว่าเหรียญสเตเบิลคอยน์จะล่มสลาย แต่นายปราสาทระบุว่า บรรดาเจ้าหน้าที่กำกับดูแลกฎระเบียบที่เขามีโอกาสพูดคุยด้วยนั้น ต่างวิตกกังวลต่อเรื่องนี้ เนื่องจากมีความเป็นไปได้ที่เหรียญสเตเบิลคอยน์จะส่งผลกระทบต่อตลาดเงินดั้งเดิม เพราะนักลงทุนมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นเงินตราดั้งเดิม ทำให้ผู้ออกเหรียญต้องเทขายสินทรัพย์สำรอง ซึ่งหมายความว่าจะมีการเทขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐเป็นจำนวนมาก
“ผมคิดว่าบรรดาเจ้าหน้าที่กำกับดูแลกฎระเบียบกังวลว่า หากนักลงทุนสูญเสียความเชื่อมั่นในเหรียญสเตเบิลคอยน์ จะก่อให้เกิดกระแสไถ่ถอนครั้งใหญ่ จนกดดันให้ผู้ออกเหรียญสเตเบิลคอยน์ต้องเทขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐออกมา” นายปราสาทกล่าว
“การไถ่ถอนเป็นปริมาณมากอาจสร้างความปั่นป่วนในตลาดพันธบัตร แม้ว่าจะเป็นตลาดที่ค่อนข้างมีสภาพคล่องก็ตาม และเมื่อพิจารณาถึงความสำคัญที่ตลาดพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐมีต่อระบบการเงินในวงกว้างในสหรัฐแล้ว ผมคิดว่าเจ้าหน้าที่กำกับดูแลกฎระเบียบกังวลในสิ่งที่ถูกต้องแล้ว”
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ม.ค. 66)
Tags: Cryptocurrency, คริปโทเคอร์เรนซี, สกุลเงินดิจิทัล, สเตเบิลคอยน์