สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันพฤหัสบดี (12 ม.ค.) หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้ออ่อนแรงลง ซึ่งคาดว่าจะเป็นปัจจัยหนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย นอกจากนี้ ตลาดยังได้แรงบวกจากความหวังที่ว่า การเปิดประเทศของจีนจะช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมัน
- ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.พ. เพิ่มขึ้น 98 เซนต์ หรือ 1.27% ปิดที่ 78.39 ดอลลาร์/บาร์เรล
- ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 1.36 ดอลลาร์ หรือ 1.65% ปิดที่ 84.03 ดอลลาร์/บาร์เรล
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 6.5% ในเดือนธ.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งชะลอตัวลงจากเดือนพ.ย.ที่เพิ่มขึ้น 7.1% และเป็นการปรับตัวขึ้นน้อยที่สุดนับตั้งแต่เดือนต.ค. 2564 นอกจากนี้ ตัวเลขดังกล่าวยังสอดคล้องกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์
เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี CPI ทั่วไปปรับตัวลง 0.1% ในเดือนธ.ค. สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ และเป็นการปรับตัวลงครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปีครึ่ง
ทั้งนี้ การชะลอตัวของดัชนี CPI บ่งชี้ว่า เงินเฟ้อของสหรัฐได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว และคาดว่าจะเป็นปัจจัยหนุนให้เฟดชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยขณะนี้นักลงทุนให้น้ำหนักมากกว่า 90% ในการคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.25% ในการประชุมวันที่ 31 ม.ค. – 1 ก.พ. หลังจากที่ก่อนหน้านี้ให้น้ำหนัก 76.7%
ตลาดยังได้แรงหนุนจากความหวังที่ว่า การเปิดประเทศของจีนจะช่วยกระตุ้นความต้องการใช้น้ำมัน โดยทีมนักวิเคราะห์ของโกลด์แมน แซคส์คาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันดิบจะพุ่งขึ้นแตะระดับ 110 ดอลลาร์/บาร์เรลภายในไตรมาส 3 ของปีนี้ เนื่องจากการเปิดประเทศของจีนจะเป็นปัจจัยหนุนความต้องการใช้น้ำมัน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการเดินทางด้วยเครื่องบิน รถไฟ และรถยนต์
นอกจากนี้ การอ่อนค่าของดอลลาร์ยังช่วยให้สัญญาน้ำมันดิบซึ่งกำหนดราคาเป็นดอลลาร์นั้น มีราคาถูกลงและน่าดึงดูดใจสำหรับนักลงทุนที่ถือครองสกุลเงินอื่น ๆ โดยดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.87% สู่ระดับ 102.2910 เมื่อคืนนี้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ม.ค. 66)
Tags: น้ำมัน WTI, น้ำมันดิบ, ราคาน้ำมัน