ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2566 ที่มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข เป็นประธาน เห็นชอบแต่งตั้งคณะอนุกรรมการบริหารจัดการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 รองรับการเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อให้มีกลไกการจัดการด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม ดำเนินการอย่างบูรณาการ มีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผลสูงสุด มีการประสานงานมาตรการที่ใช้กับผู้เดินทาง เพื่อให้การทำงานไร้รอยต่อ
นายอนุทิน กล่าวว่า ปัจจุบันไม่มีศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) การควบคุมป้องกันโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง กลับมาอยู่ภายใต้อำนาจ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 จึงประสานความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือแนวทางการดำเนินงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดและทันสถานการณ์ ซึ่งตั้งแต่ประเทศไทยได้ผ่อนคลายมาตรการและเปิดรับผู้เดินทางจากทั่วโลก มีการเดินทางเข้ามาของนักท่องเที่ยว นักธุรกิจ สายการบินมีคนเดินทางมากขึ้น 80% ทำให้ธุรกิจต่างๆ กลับมา พลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ และมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ยังเห็นชอบมาตรการรองรับการเดินทางเข้าประเทศไทย โดยผู้เดินทางจากประเทศที่กำหนดให้มีผลตรวจ RT-PCR ขากลับ ต้องมีประกันสุขภาพโควิด-19 วงเงิน 1 หมื่นเหรียญ พร้อมเห็นชอบให้บริการวัคซีนโควิดชาวต่างชาติตามสมัครใจ รายละเอียด ดังนี้
– มาตรการรองรับการเดินทางเข้าประเทศไทย เพื่อป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 โดยมี 3 เรื่องย่อย คือ
1) มาตรการด้านสาธารณสุขในการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 ของประเทศไทยสำหรับผู้เดินทางเข้าประเทศ ให้มีการบูรณาการความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว คมนาคม ต่างประเทศ สาธารณสุข และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เตรียมความพร้อมดูแลนักท่องเที่ยวและมาตรการด้านสาธารณสุข เช่น เฝ้าระวังโรคกลุ่มผู้เดินทางที่มีอาการทางเดินหายใจให้ได้รับการตรวจด้วย ATK/PCR ตรวจสายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 เพิ่มกลไกการรายงานผ่านเว็บไซต์กรมควบคุมโรค เฝ้าระวัง และตรวจสายพันธุ์ในน้ำเสียจากเครื่องบิน
2) แนวทางการทำประกันภัยสำหรับนักท่องเที่ยว เน้นผู้เดินทางจากประเทศที่กำหนดให้ขากลับประเทศต้นทาง ต้องมีผลตรวจ RT-PCR คือ จีน และอินเดีย โดยต้องมีประกันสุขภาพวงเงินไม่น้อยกว่า 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ ครอบคลุมการรักษาโควิด-19 ตลอดช่วงระยะเวลาที่อยู่ในประเทศไทย และบวกเพิ่มอีก 7 วัน กรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองผู้ที่เดินทางเข้าประเทศไทย (เงื่อนไขตามที่กำหนด) สำหรับผู้มาประกอบภารกิจ รวมถึงลูกเรือ นักเรียน อาจจะใช้หนังสือรับรองจากหน่วยงานเจ้าภาพ หรือเอกสารแสดงถึงการมีประกันรูปแบบอื่นรับรองแทน โดยเจ้าหน้าที่ด่านควบคุมโรคติดต่อ จะสุ่มตรวจเอกสารรับรองประกันสุขภาพของผู้เดินทางจากประเทศดังกล่าว หากพบว่าไม่มีเอกสารประกันสุขภาพ ผู้นั้นจะต้องซื้อประกันสุขภาพก่อนเข้าเมือง
3) แนวทางปฏิบัติสำหรับผู้ประกอบการท่องเที่ยว เพื่อป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 เน้นผู้ประกอบการท่องเที่ยว และประชาชน ได้รับวัคซีนโควิดครบ 4 เข็ม เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการป้องกันการป่วยหนัก
– การให้บริการวัคซีนโควิด-19 ในชาวต่างชาติ โดยให้มีการจัดระบบและกำหนดแนวทางการให้บริการวัคซีนโควิด-19 ตามความสมัครใจ และคิดค่าบริการที่เหมาะสม ภายใต้กลไก Medical hub โดยวัคซีนที่ให้บริการจะเป็นวัคซีนที่รัฐบาลไทยจัดซื้อมาเท่านั้น และมีจุดบริการฉีดวัคซีนสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในระยะนำร่อง แบ่งเป็น กทม. ได้แก่ สถาบันโรคผิวหนัง รพ.นพรัตนราชธานี รพ.เลิดสิน รพ.ราชวิถี ศูนย์การแพทย์บางรัก สถาบันบำราศนราดูร และสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง, เชียงใหม่ ได้แก่ รพ.ประสาทเชียงใหม่, ชลบุรี ที่ศูนย์พัทยารักษ์, ภูเก็ต ที่หน่วยบริการที่ดำเนินการโดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต
ทั้งนี้ การบริหารจัดการวัคซีนให้คำนึงถึงปริมาณวัคซีนคงคลังที่จะไม่กระทบกับประชาชนไทย และให้จัดสรรวัคซีนให้แก่ประชาชนไทยเป็นลำดับแรก
“ภาพรวมในวันนี้ ประเทศไทยสามารถผ่อนคลายมาตรการป้องกันควบคุมโควิด-19 ให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันได้ดี จำนวนผู้ป่วยรักษาในโรงพยาบาล ผู้ป่วยอาการหนัก และผู้เสียชีวิตลดลง อัตราครองเตียงระดับ 2 และ 3 ยังต่ำกว่า 6% แต่ที่ต้องเร่งรัดคือ การฉีดวัคซีนในประเทศไทย โดยเฉพาะกลุ่ม 608 ซึ่งที่เสียชีวิตมากกว่าครึ่งหนึ่ง เป็นผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน ไม่ได้รับเข็มกระตุ้น หรือได้รับเข็มกระตุ้นนานเกิน 3 เดือน จึงต้องรณรงค์ให้รับวัคซีนให้ครบ 4 เข็ม กระตุ้นทุก 4 เดือน เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกัน เพราะหากติดเชื้อ จะไม่ป่วยรุนแรงและเสียชีวิต” นายอนุทิน กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 ม.ค. 66)
Tags: COVID-19, RT-PCR, กรมควบคุมโรค, วัคซีนต้านโควิด-19, อนุทิน ชาญวีรกูล, โควิด-19