เอาจริง! ผู้ว่ากทม. เร่งแก้ต้นตอปัญหาฝุ่น PM2.5

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) กล่าวถึงสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5)ว่า มาตรการในภาพรวม คือการกำจัดต้นตอให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ มีการตรวจแหล่งกำเนิดฝุ่นมาตลอด ตอนนี้โฟกัสที่ท่าเรือ และรถบรรทุก และหากใครพบต้นตอแหล่งกำเนิดมลพิษ สามารถแจ้งเบาะแสผ่านทาง Traffy Fondue ได้ และจะมีการเพิ่มเซนเซอร์ตรวจฝุ่นให้มากขึ้น ส่วนเรื่องการเปลี่ยนไปใช้รถไฟฟ้าต้องเป็นภาพรวมของทั้งประเทศ

กทม.เริ่มแผนการตรวจฝุ่นทุกวัน ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 65 เป็นต้นมาแล้ว เช่น วันนี้มีตรวจสถานประกอบการโรงงาน ของสำนักงานเขต 43 แห่ง ในพื้นที่ 10 เขต, สถานที่ก่อสร้าง ของสำนักงานเขต 27 แห่ง ในพื้นที่ 5 เขต, สถานที่ก่อสร้าง ของสำนักโยธา 46 แห่ง, แพลนท์ปูน ของสำนักงานเขต 27 แห่ง ใน 7 เขต, ถมดิน ของสำนักงานเขต 4 แห่ง, ตั้งจุดตรวจสอบตรวจจับรถยนต์ปล่อยควันดำ 20 จุด และตรวจรถควันดำในสถานที่ต้นทาง ของสำนักงานเขต 24 แห่ง ในพื้นที่ 5 เขต

“ก่อนออกจากบ้านก็อย่าลืมเปิดแอปพลิเคชันเพื่อดูฝุ่นก่อน เพื่อจะได้เตรียมตัวได้ คิดว่าสภาพปัจจุบัน ถ้า PM 2.5 เฉลี่ย 50 มคก./ลบ.ม การใส่หน้ากากป้องกันโควิด-19 ก็พอช่วยกรองฝุ่นได้ระดับหนึ่ง แต่ถ้าฝุ่นมากกว่านี้อาจจะต้องใส่หน้ากากกรอง 2 ชั้น สำหรับสถานการณ์ฝุ่นวันนี้ดีขึ้น เพราะมีลมตะวันออกเฉียงเหนือเข้ามา และมีฝนเล็กน้อยมาช่วย” นายชัชชาติ กล่าว

ส่วนเรื่องการตรวจสอบข้อมูลจุดความร้อน (hotspot) ผ่านดาวเทียม จากหน่วยงาน NASA ในวันนี้ไม่พบค่าความร้อนสูงผิดปกติในบริเวณพื้นที่กทม. โดย กทม. ได้มีการพูดคุยกับเกษตรกรทั้งหมดในกทม. แล้ว ทั้งมีนบุรี หนองจอก และคลองสามวา ทั้งนี้ ถ้าพบจุดความร้อนในเขตกทม. จะรีบสั่งการให้เทศกิจของเขตนั้นๆ ลงพื้นที่ ณ จุดเกิดเหตุเพื่อป้องกันต่อไป

สำหรับปัญหาหาบเร่ แผงลอย ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ได้มีการดำเนินการเรื่องนี้มาเยอะมาก โดยก่อนหน้านี้ช่วงวันที่ 23-29 ธ.ค. 65 ได้มีการสับเปลี่ยนหัวหน้าฝ่ายเทศกิจจำนวน 42 เขต แบ่งเป็น เปลี่ยน 19 เขต ปรับขึ้น 23 เขต เพื่อให้คนใหม่สามารถมาลุยกับปัญหาได้ เนื่องจากคนเดิมอาจจะคุ้นชินกับปัญหาแล้ว หลังจากนี้จะค่อยๆ จัดระเบียบทางเท้าให้ดีขึ้น ซึ่งคนเดินเท้าต้องมาก่อน แต่ที่เหลือถ้าไม่กีดขวางทาง ก็อาจจัดพื้นที่ให้พ่อค้า-แม่ค้า ขายของให้พอมีรายได้ได้บ้าง

“ต้องช่วยกันดูแล ตรงไหนเป็นจุดที่กีดขวาง พวกเราก็อย่าไปซื้อกัน เพราะถ้าเขาไม่มีคนซื้อ ก็จะไม่มีคนขาย ถ้าร้านกีดขวางจนคนเดินไม่ได้ ยิ่งเราไปยืนซื้อ เราก็จะเป็นตัวกีดขวางด้วย แต่หน้าที่กทม. ต้องดูและอยู่แล้วไม่ให้มีคนกีดขวาง” นายชัชชาติ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ม.ค. 66)

Tags: , , ,
Back to Top