นายเหยา หยาง คณบดีของมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาแห่งชาติของจีน (National School of Development) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ให้คำปรึกษาแก่รัฐบาลจีนกล่าวว่า การที่จีนกลับลำด้วยการยกเลิกนโยบายโควิดเป็นศูนย์ (Zero-Covid Policy) นั้น ถือเป็นเรื่องดี แต่จีนก็จำเป็นต้องดำเนินการให้มากขึ้น หากต้องการผลักดันเศรษฐกิจให้ขยายตัวใกล้กับระดับ 6% ซึ่งเป็นระดับก่อนที่โรคโควิด-19 จะแพร่ระบาด
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และบรรดาที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจต่างก็พยายามหลีกเลี่ยงการพูดถึงโรคโควิด-19 ในระหว่างการประชุมที่กรุงปักกิ่งเมื่อเดือนธ.ค.ที่ผ่านมาเพื่อวางแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจในปีนี้ โดยการประชุมมุ่งเน้นไปที่การกระตุ้นการอุปโภคบริโภคและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค
ทั้งนี้ นายเหยากล่าวว่า ปธน.สีมีความมุ่งมั่นที่จะผลักดันเศรษฐกิจให้กลับมาขยายตัวอีกครั้ง พร้อมกับกล่าวว่า แม้จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นทั่วประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการใช้จ่ายของผู้บริโภค แต่เขาคาดว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะขัดขวางปัจจัยบวกจากการเปิดประเทศของจีนแค่เพียงชั่วคราวเท่านั้น
นายเหยาคาดการณ์ว่า จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 จะถึงจุดพีกภายในระยะเวลา 2 เดือน เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในฮ่องกงและไต้หวันในปีที่แล้ว และหลังจากนั้นการใช้จ่ายของผู้บริโภคจะดีดตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว
นักเศรษฐศาสตร์ในโพลสำรวจของบลูมเบิร์กคาดว่า เศรษฐกิจจีนจะขยายตัวราว 4.9% ในปีนี้ ซึ่งต่ำกว่ากรอบเป้าหมายที่ทีมที่ปรึกษาของรัฐบาลจีนกำหนดไว้ที่ 4.5% – 5.5% ขณะที่นายเหยากล่าวว่า การจะผลักดันเศรษฐกิจให้เติบโตสูงกว่าระดับ 6% ได้นั้น จำเป็นต้องพึ่งพาการใช้จ่ายของผู้บริโภค
“ถ้าถามว่านั่นเป็นเป้าหมายที่ทำได้ง่ายหรือไม่ ผมตอบได้เลยว่า ไม่ง่ายอย่างแน่นอน” นายเหยากล่าว
เขากล่าวว่า ผลกระทบด้านบวกของนโยบายโควิดเป็นศูนย์ของจีนก็คือ ภาคครัวเรือนมีเงินออมสูงมากในปี 2565 เนื่องจากงดการเดินทางท่องเที่ยวและซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย โดยเฉพาะในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 เงินออมในธนาคารมีสูงถึง 13.2 ล้านล้านหยวน (1.9 ล้านล้านดอลลาร์) ซึ่งคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงกว่าตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) รายปีของเกาหลีใต้
แต่เงินออมที่เพิ่มขึ้นนั้น ส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่มั่งคั่ง และมีแนวโน้มว่าครอบครัวเหล่านี้จะนำเงินส่วนเกินไปลงทุนมากกว่าที่จะนำไปใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ
ในปี 2565 ที่ผ่านมา ความเชื่อมั่นและการใช้จ่ายของผู้บริโภคจีนได้รับผลกระทบ เนื่องจากรัฐบาลจีนใช้มาตรการล็อกดาวน์เป็นวงกว้าง รวมทั้งการใช้กฎระเบียบเพื่อควบคุมภาคอสังหาริมทรัพย์และเทคโนโลยี ขณะที่ค่าจ้างในเมืองต่าง ๆ ของจีนขยับขึ้นเพียง 2.2% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 ซึ่งน้อยกว่าในช่วงก่อนโรคโควิด-19 แพร่ระบาด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ม.ค. 66)
Tags: จีน, เศรษฐกิจจีน