![](https://www.infoquest.co.th/wp-content/uploads/2023/01/D71AF5EA79F4E8B2E668566D1094F1C4.png)
จากตลาดขาลงของวงการ FinTech เมื่อปีที่ผ่านมา ได้มีข่าวในด้านลบต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับ FinTech Firms เกิดขึ้นมากมายและมีผู้ใช้บริการในแวดวง FinTech ได้รับความเสียหายเป็นวงกว้างทั่วโลก โดยเมื่อเรื่องดังกล่าวได้เป็นคดีความขึ้นสู่ศาล ปกติแล้วผลของคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลจะไม่ส่งผลกระทบต่อบุคคลภายนอก (ผู้ที่ไม่ใช่คู่ความ หรือไม่ใช่โจทก์และจำเลยในคดี)
อย่างไรก็ตาม การทำธุรกรรม FinTech นั้น มีความซับซ้อนกว่าปกติและมีผู้เกี่ยวข้องเป็นวงกว้าง การจะดำเนินกระบวนพิจารณาคดีจึงต้องมีการดำเนินการที่พิเศษกว่าคดีทั่วไป
จากกรณีล่าสุดในประเทศอังกฤษ ศาลสูงของประเทศอังกฤษได้ออกคำสั่งให้บริษัท Cryptocurrency Exchange หลายแห่งซึ่งเป็นบุคคลภายนอกของคดีความ ต้องให้ข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีลูกค้าบางส่วนแก่เหยื่อผู้ถูกฉ้อโกง (some of their customer accounts) รวมไปถึงตำแหน่งของสินทรัพย์ดิจิทัลที่ถูกขโมยของเหยื่อ (The whereabouts of the victim’s stolen assets) โดยคำสั่งดังกล่าวก็เป็นไปเพื่อให้เหยื่อจากการถูกฉ้อโกงได้รับการเยียวยานั่นเอง โดยมีประเด็นทางกฎหมายที่น่าพิจารณา ดังนี้
ในคดี LMN v Bitflyer Holdings Inc and others บริษัท Cryptocurrency Exchange ชื่อ LMN ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาล โดยอ้างว่าในช่วงสองปีก่อนที่จะมีการฟ้องคดี LMN ได้ถูกแฮ็กเกอร์เข้าถึงระบบของตนและโอน Cryptocurrency มูลค่ากว่าหลายล้านเหรียญดอลลาร์ออกไป ซึ่งสินทรัพย์ดิจิทัลเหล่านี้ส่วนใหญ่ได้ถูกโอนไปยัง Cryptocurrency Exchanges อื่นจำนวนมาก
ดังนี้ LMN จึงได้ขอศาลเพื่อติดตามเส้นทางการโอนสินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าว แต่เพื่อให้สามารถติดตามเส้นทางการโอนได้ LMN มีความจำเป็นต้องได้รับข้อมูลจากการ Cryptocurrency Exchanges ที่ได้รับโอนสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น ๆ ไป LMN จึงได้ขอศาลให้มีคำสั่งให้ Cryptocurrency Exchanges ต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับ (1) ชื่อของผู้ถือบัญชีซึ่งรับโอน Cryptocurrency ที่ถูกขโมย (2) ข้อมูล KYC/AML ที่เกี่ยวข้องกับบัญชี (3) ข้อมูลใด ๆ ที่อาจระบุตัวตนของเจ้าของบัญชี (4) คำอธิบายเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับสกุลเงินดิจิทัลที่เกี่ยวข้อง และ (5) รายละเอียดของบัญชีใด ๆ ที่รับโอน Cryptocurrency ที่ถูกขโมยทอดต่อ ๆ ไป โดยต้องเปิดเผยข้อมูลทั้งธุรกรรมที่ได้ดำเนินการในประเทศอังกฤษ และประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม การขอให้ศาลออกคำสั่งดังกล่าวถือเป็นการขอให้ศาลออกคำสั่งนอกเขตอำนาจศาล เนื่องจาก Cryptocurrency Exchanges ไม่ได้ถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดี รวมไปถึงได้มีการขอให้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการทำธุรกรรมนอกประเทศอีกด้วย
คดีนี้ศาลประเทศอังกฤษได้พิจารณาชั่งน้ำหนักระหว่างประเด็นเรื่องความเป็นส่วนตัวกับการช่วยเยียวยาความเสียหายต่อเหยื่อผู้ถูกฉ้อโกง โดยได้มีคำสั่งอนุญาตให้ LMN เพิ่ม “บุคคลที่ไม่รู้ว่าใคร” (Persons Unknown) เข้ามาเป็นจำเลยในคดีนี้ โดยไม่ต้องระบุให้ชัดเจนว่า Persons Unknown นั้นคือใคร มีชื่ออะไร แต่ต้องระบุกรอบของกลุ่มบุคคล/นิติบุคคลที่จะถูกฟ้องเป็น Persons Unknown ไว้ว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร (สามารถอ่านรายละเอียดกรณีการฟ้อง ‘Persons Unknown’ เป็นจำเลยในคดี เพิ่มเติมได้ที่บทความ Decrypto EP. 31 “FinTech กับ กระบวนการยุติธรรม” https://www.infoquest.co.th/2022/199825)
ในคดีนี้ LMN จึงได้ระบุกรอบของ Persons Unknown จำเลยในคดีนี้ให้ครอบคลุมไปถึง Cryptocurrency Exchanges ที่ได้รับหรืออาจได้รับโอนสินทรัพย์ดิจิทัลที่ถูกฉ้อโกงไป
โดย LMN จะได้รับอนุญาตให้เข้าถึงข้อมูลของกลุ่มจำเลยที่เป็น Persons Unknown ตามหลักกฎหมาย Gateway 25 ซึ่งเป็นหลักกฎหมายที่กำหนดขึ้นเป็นพิเศษเพื่อช่วยเยียวยาปัญหาเกี่ยวกับการฉ้อโกงสินทรัพย์ดิจิทัล โดย Gateway 25 (paragraph 3.1(25) of PD6B) วางหลักไว้ว่า การออกคำสั่งเพื่อขอข้อมูลจากบุคคลภายนอกคดีนั้นสามารถทำได้ ถ้าเป็นข้อมูลที่เกี่ยวกับตัวตนที่แท้จริงของผู้กระทำความผิดหรือผู้ที่อาจกระทำความผิด และ/หรือ ข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งที่เป็นทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดี
ทั้งนี้ เนื่องจากการฉ้อโกงสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น อาชญากรมักดำเนินการด้วยวิธีการที่มีความซับซ้อน และสามารถปฏิบัติการได้จากทั่วทุกมุมโลก ระบบกฎหมายอังกฤษจึงได้มีความพยายามกำหนดวิธีการในการดำเนินกระบวนพิจารณาและมาตราการเยียวยาเพื่อคุ้มครองผู้ที่ตกเป็นเหยื่อให้มากขึ้น การตัดสินในคดี LMN v Bitflyer Holdings Inc and others จึงนับเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการพัฒนาในหลักนิติศาสตร์และแนวทางของศาลอังกฤษในการต่อสู้กับการฉ้อโกง Cryptocurrency และสินทรัพย์ดิจิทัล อันเป็นการแสดงให้เห็นถึงความพร้อมของศาลอังกฤษในการใช้เครื่องมือต่าง ๆ เพื่อการจัดการต่อการฉ้อโกง Cryptocurrency และสินทรัพย์ดิจิทัล รวมไปถึงเสนอวิธีแก้ปัญหาเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการฉ้อโกงสินในแวดวง FinTech
สำหรับประเทศไทยนั้น หากผู้ใช้บริการด้าน FinTech หรือบริษัทเอกชนจะฟ้องร้องดำเนินคดีด้วยตนเองในศาล (โดยไม่ดำเนินการผ่านเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งอาจจะมีความล่าช้ากว่า ในบางกรณี) การเรียกข้อมูลจากบุคคลภายนอกเพื่อขอดูเส้นทางการโอนสินทรัพย์ดิจิทัลก็ยังคงมีข้อจำกัดเป็นอย่างมาก เช่น ทาง Exchange อาจจะไม่ให้ความร่วมมือเท่าที่ควร เนื่องจากจะต้องมีการเปิดเผื่อข้อมูลของลูกค้าที่ทั้งอาจจะเกี่ยวข้อง หรือไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเป็นจำนวนมาก ข้อกังกลว่าการให้ข้อมูลอาจขัดกับกฎหมายต่าง ๆ เช่น กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เป็นต้น นอกจากนี้ ภายใต้ระบบกฎหมายไทยการยื่นฟ้องคดีโดยที่ยังไม่ทราบตัวจำเลยที่แน่ชัดนั้นก็ไม่สามารถกระทำได้ จึงเป็นการยากที่จะฟ้องคดีที่เกี่ยวกับการฉ้อโกงหรือการติดตาม Cryptocurrency และสินทรัพย์ดิจิทัลที่ถูกฉ้อโกงคืน เนื่องจากส่วนมากแล้วผู้กระทำผิดมักจะไม่เปิดเผยตัว ลักษณะการกระทำความผิด/เส้นทางการโอนสินทรัพย์ดิจิทัลมีความซับซ้อนโอนต่อ ๆ กันไปหลายทอดในหลายประเทศ และตัวผู้กระทำความผิดก็อาจจะไม่ได้อยู่ในประเทศไทยก็เป็นได้ กรณีจึงยังคงถือเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับวงการกฎหมายไทยเป็นอย่างมาก
นางสาวดุษดี ดุษฎีพาณิชย์
ทนายความผู้เชี่ยวชาญด้านนิติกรรมสัญญา
และอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 ม.ค. 66)
Tags: Crypto, Cryptocurrency, Decrypto, FinTech, SCOOP, คริปโทเคอร์เรนซี