กลุ่มผู้สนับสนุนนายฌาอีร์ โบลโซนารู อดีตประธานาธิบดีบราซิล ได้บุกรุกเข้าไปในสภาคองเกรส, ทำเนียบประธานาธิบดี และศาลสูงของบราซิลในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (8 ม.ค.) เพื่อแสดงความไม่พอใจต่อผลการเลือกตั้งประธานาธิบดี
นายลูอิส อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา คว้าชัยชนะในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีบราซิลในเดือนต.ค. 2565 ด้วยคะแนนโหวต 59.8 ล้านเสียง หรือคิดเป็น 50.86% แซงหน้านายโบลโซนารู ปธน.บราซิลในเวลานั้นซึ่งได้รับคะแนนโหวต 57.8 ล้านเสียง หรือคิดเป็น 49.14% อย่างไรก็ดี กลุ่มผู้สนับสนุนอดีตปธน.โบลโซนารูซึ่งเป็นอดีตผู้นำขวาจัดของบราซิล ได้แสดงความไม่พอใจต่อผลการเลือกตั้งในครั้งนี้
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ปธน.ลูอิส อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา แถลงว่าทางรัฐบาลได้ส่งเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงเข้าแทรกแซงสถานการณ์ในกรุงบราซิเลีย เมืองหลวงของบราซิล และจะทำการควบคุมสถานการณ์ไปจนถึงวันที่ 31 ม.ค. หลังจากเบื้องต้นกองกำลังความมั่นคงของเมืองหลวงแห่งนี้ไม่สามารถรับมือกับพวกผู้บุกรุกได้
ในระหว่างการแถลงข่าวครั้งนี้ ปธน.ลูลาได้กล่าวโทษนายโบลโซนารู ว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์จลาจล และยังตำหนิเกี่ยวกับมาตรการความมั่นคงที่ไม่เพียงพอในเมืองหลวง โดยกล่าวว่าเจ้าหน้าที่ปล่อยให้กลุ่มคนที่ฝักใฝ่ฝ่ายซ้ายและและกลุ่มคนหัวรุนแรงสร้างความเสียหายร้ายแรง
รายงานระบุว่า กลุ่มผู้ประท้วงได้สร้างกระแสความตึงเครียดมาเป็นเวลานานนับเดือนหลังเสร็จสิ้นการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2565 ซึ่งแม้ว่าผลการเลือกตั้งปรากฎว่านายลูลาได้รับชัยชนะ แต่นายโบลโซนารูยังไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ และยังอ้างว่าระบบการเลือกตั้งด้วยเครื่องลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ของบราซิลเต็มไปด้วยการฉ้อโกง ซึ่งคำกล่าวอ้างดังกล่าวได้จุดชนวนความเคลื่อนไหวที่รุนแรงของบรรดาผู้ที่ไม่ยอมรับผลเลือกตั้ง
ทั้งนี้ ภาพข่าวทางสถานีโทรทัศน์ของบราซิลแสดงให้เห็นว่า กลุ่มผู้ประท้วงได้ฝ่าแนวกั้นเข้าไปยังศาลสูงและสภาคองเกรส และทุบทำลายเฟอร์นิเจอร์ ขณะที่สื่อท้องถิ่นคาดการณ์ว่ามีประชาชนราว 3,000 คนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้
ทางด้านนายแอนโทนี บลิงเกน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐได้ออกมาประณามเหตุการณ์จลาจลในครั้งนี้ พร้อมกับยืนยันว่าสหรัฐจะให้การสนับสนุนปธน.ลูลา และระบอบประชาธิปไตยของบราซิล
เหตุการณ์ดังกล่าวในบราซิลมีความคล้ายกับเหตุการณ์เมื่อวันที่ 6 ม.ค.ปี 2564 ในสหรัฐ เมื่อกลุ่มผู้สนับสนุนอดีตปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ได้บุกเข้าไปในอาคารรัฐสภา เพื่อขัดขวางการประกาศรับรองชัยชนะของนายโจ ไบเดนในการเลือกตั้งประธานาธิบดี โดยเหตุการณ์รุนแรงดังกล่าวส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 6 ราย ซึ่งรวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำอาคารรัฐสภา
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 ม.ค. 66)
Tags: บราซิล, ประท้วง, ม็อบ, เลือกตั้ง