นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่พระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 12 ต.ค. 65 และมีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ยกเว้นบางมาตราที่มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป นั้น กองพัฒนากฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้มีข้ออธิบายถึงการใช้เอกสารหลักฐานในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ในการเบิกจ่ายเงิน ว่า เนื่องจากมาตรา 15 ของกฎหมายการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ รับรองการใช้เอกสารหลักฐานอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลักฐานเบิกจ่ายของส่วนราชการและท้องถิ่น ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 10 ม.ค. 66 เป็นต้นไป หน่วยงานของรัฐทั้งส่วนราชการและท้องถิ่น ต้องรับเอกสารหรือหลักฐานอิเล็กทรอนิกส์ทุกรูปแบบไม่ว่าจะเป็นไฟล์ PDF หรือภาพทางดิจิทัลในการรับจ่ายเงิน ถ้าไม่รับอาจต้องรับผิดว่าจงใจฝ่าฝืนกฎหมายได้
นายอนุชา กล่าวว่า สำหรับมาตรา 15 วรรคหนึ่ง ตามพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 มีบทบัญญัติว่า ในการติดต่อหรือส่งเรื่องถึงกันในระหว่างหน่วยงานของรัฐด้วยกัน ระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐกับหน่วยงานของรัฐ หรือระหว่างประชาชนกับหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐในส่วนที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออำนาจของเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น ถ้าได้กระทำโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์แล้ว ให้ถือว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมายและใช้เป็นหลักฐานได้ตามกฎหมาย หากหน่วยงานของรัฐหน่วยงานใดไม่สามารถรองรับวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ จะตราพระราชกฤษฎีกายกเว้นให้เป็นกรณี ๆ ไปก็ได้ โดยต้องระบุเหตุผล ความจำเป็น และระยะเวลาที่จะยกเว้นให้
นายอนุชา กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายหลังจากที่พระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว สำนักงาน ก.พ.ร. ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ได้จัดการประชุมชี้แจงส่วนราชการ จังหวัด องค์การมหาชน รัฐวิสาหกิจ สถาบันการศึกษา และหน่วยงานอื่นของรัฐ เพื่อสร้างความเข้าใจในการดำเนินการตามกฎหมายฉบับนี้ เตรียมความพร้อมหน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยในการดำเนินการ ทั้งในส่วนของการปฏิบัติงานและการให้บริการประชาชนให้เป็นไปตามแนวปฏิบัติที่กำหนด เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 65 โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) เป็นประธาน ซึ่งมีผู้แทนหน่วยงานเข้าร่วมรับฟังกว่า 8,500 คน
ทั้งนี้ สคก. ได้ชี้แจงตอนหนึ่งว่า พระราชบัญญัติฯ เกิดขึ้นเพื่อให้การปฏิบัติงานและการให้บริการประชาชนของภาครัฐเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ที่มุ่งหวังให้ประชาชนทุกคนได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็ว โดยมีแนวปฏิบัติที่สำคัญในการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการปฏิบัติราชการและการให้บริการ เช่น การติดต่อระหว่างหน่วยงานกับเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือประชาชนทางอิเล็กทรอนิกส์สามารถใช้เป็นหลักฐานตามกฎหมายได้ การสั่งการและการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ ซึ่งมีกฎหมายกำหนดให้เป็นหนังสือ สามารถใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ เอกสารหลักฐานในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ สามารถใช้เป็นหลักฐานเบิกจ่ายได้ โดยการตรากฎหมายฉบับนี้จะเป็นการขจัดอุปสรรคทางข้อกฎหมายของการดำเนินงานภาครัฐด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มประสิทธิภาพ ความรวดเร็ว ความประหยัด และความโปร่งใสตรวจสอบได้ในการปฏิบัติราชการ โดยหัวใจของการดำเนินการตามกฎหมายฉบับนี้ จะมุ่งเน้นประชาชนสะดวกให้เกิดความสะดวกเป็นหลัก
“รัฐบาลได้เร่งขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลดิจิทัล และเตรียมความพร้อมหน่วยงานภาครัฐทุกหน่วย ให้พร้อมเข้าสู่การดำเนินการตามพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 พร้อมทั้งพัฒนาระบบให้บริการออนไลน์หรือ e-service เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนเข้าถึงบริการของรัฐได้ทันทีทุกที่ทุกเวลา ลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชน โดยหน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยจะร่วมขับเคลื่อนให้การปฏิบัติราชการจากระบบเดิมไปสู่ระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้เต็มรูปแบบตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติฯ อันจะเพิ่มความสะดวกในการให้บริการประชาชน และยกระดับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานต่อไป” นายอนุชา กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ม.ค. 66)
Tags: ข้าราชการ, หน่วยงานรัฐ, อนุชา บูรพชัยศรี, อิเล็กทรอนิกส์