จีนได้ปรับเปลี่ยนนโยบายการป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 ด้วยการประกาศลดระดับการจัดการโรค จากที่เคยใช้มาตรการต่อต้านโรคติดเชื้อระดับเอ (Class A) มาเป็นระดับบี (Class B) พร้อมทั้งกลับมาออกหนังสือเดินทางและวีซ่าอีกครั้ง ตลอดจนผ่อนคลายนโยบายการเดินทางเข้าประเทศ ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 8 มกราคมนี้
นโยบายโควิดเป็นศูนย์แบบพลวัต (dynamic zero-COVID) เป็นนโยบายที่จีนให้ความสำคัญในการป้องกันโควิด-19 และได้มีการนำนโยบายดังกล่าวมาใช้ ส่วนหนึ่งเพื่อที่จะซื้อเวลาให้ไวรัสสายพันธุ์ดั้งเดิมและสายพันธุ์ที่เกิดขึ้นตามมามีอันตรายถึงชีวิตน้อยลง โดยจีนมองว่าการที่จีนได้ผ่อนปรนมาตรการลงนั้น จะทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่อัตราการเสียชีวิตและโควิดสายพันธุ์รุนแรงจะน้อยลงกว่าเดิมมาก
“ตอนที่ไวรัสปรากฏขึ้นบนโลก มันมีความรุนแรงมาก จนทำให้โรงพยาบาล โดยเฉพาะเตียงไอซียูมีผู้ป่วยเต็ม ซึ่งสถานการณ์นี้เกิดขึ้นในทุกพื้นที่ทั่วโลก ตอนนี้ เมื่อไวรัสมีความรุนแรงน้อยลงมากและเบาบางลง เราจึงต้องการผ่อนปรนมาตรการของเรา แน่นอนว่าจะต้องมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่อัตราการเสียชีวิตและโควิดสายพันธุ์รุนแรงจะน้อยลงกว่าเดิมมาก”หลี่ กว่างซี ผู้เชี่ยวชาญของกลไกการป้องกันและควบคุมร่วมของสภาแห่งรัฐ (State Council’s Joint Prevention & Control Mechanism) กล่าว
การตัดสินใจของจีนทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางจากสื่อตะวันตก รวมถึงแวดวงการเมืองและวิชาการตะวันตก เช่นเดียวกับที่เคยมีการวิพากษ์วิจารณ์นโยบาย “โควิดเป็นศูนย์แบบพลวัต” (dynamic zero-COVID) โดยเสียงวิจารณ์มีตั้งแต่การเปรียบเทียบยอดผู้ติดเชื้อโควิดในจีนที่เพิ่มขึ้นระลอกล่าสุดว่าเป็น “หายนะ” ที่อาจ “ทำให้เศรษฐกิจโลกตกอยู่ในความเสี่ยง” ไปจนถึงการปล่อยข่าว “การกลายพันธุ์ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่”
ขณะที่ เหมา หนิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ได้ออกมากล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า “ปัจจุบัน เรากำลังปรับมาตรการรับมือโควิด-19 ให้เข้ากับพัฒนาการใหม่ของโรคระบาด เพื่อทำให้การตอบสนองต่อโรคระบาดและการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมมีความสอดประสานกันมากขึ้น เราเชื่อว่าด้วยความพยายามร่วมกันและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของประชาชนจีน เราจะสามารถเข้าสู่ระยะใหม่ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างมั่นคงและเป็นระเบียบ”
นโยบายโควิดเป็นศูนย์แบบพลวัตของจีนนั้น ช่วยปกป้องชีวิตประชาชน อีกทั้งยังช่วยซื้อเวลาเพื่อที่จะทำความเข้าใจไวรัสโดยอาศัยหลักวิทยาศาสตร์ รวมทั้งทำวิจัยและพัฒนาวัคซีน ยาต้านไวรัส และวิธีการรักษา และเพื่อฉีดวัคซีนให้ประชาชนทั่วประเทศ
นอกจากการปกป้องประชาชนแล้ว ประเด็นด้านเศรษฐกิจก็เป็นอีกเรื่องสำคัญที่ทุกฝ่ายจับตาว่า การเปลี่ยนแปลงนโยบายรับมือโควิด-19 จะส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจจีนอย่างไรบ้าง
จีนอาจเผชิญกับความท้าทายในส่วนของยอดค้าปลีกและการใช้จ่ายของผู้บริโภคในช่วงแรก ๆ ของการลดระดับการจัดการโควิด-19 และการยกเลิกข้อจำกัดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 ไม่ได้หมายความว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจจะฟื้นตัวในทันที นอกจากนี้ จำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกประเทศ ไม่ใช่แค่จีนเท่านั้น ยังหมายความว่าประชาชนต้องใช้เวลาสักระยะก่อนที่จะสามารถกลับไปใช้บริการร้านค้าและร้านอาหารต่าง ๆ
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขล่าสุดได้แสดงให้เห็นถึงการฟื้นตัวของตลาดการบริโภคของจีนแล้ว โดยสำนักข่าวซินหัวรายงานว่า นับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายโควิด-19 จำนวนคนเข้าโรงภาพยนตร์บางส่วนในกรุงปักกิ่งกลับมาอยู่ที่ 75% ของระดับปกติ และบรรดาร้านอาหารยอดนิยมมีลูกค้าเข้าร้านมากกว่า 80% แล้ว
หวง เหวินเถา หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของไชน่า ซีเคียวริตีส์ (China Securities) ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวว่า การปรับเปลี่ยนนโยบายรับมือโควิด-19 จะทำให้ชาวจีนต้องการเดินทางและใช้จ่ายมากขึ้น การบริโภคจะกลายเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ
ขณะเดียวกัน อู่ เฉาหมิง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของเชสซิง อินเตอร์เนชันแนล อีโคโนมิก อินสทิทิวท์ (Chasing International Economic Institute) เชื่อว่าการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคต่อหัวของชาวจีนจะเพิ่มขึ้นจาก 8% เป็น 12% ในปีใหม่นี้
การต่อสู้กับโควิดอย่างยากลำบากตลอดสามปีที่ผ่านมาได้ก่อให้เกิดภาวะการหยุดชะงัก แต่เศรษฐกิจจีนก็ยังสามารถฟื้นตัวได้ ข้อมูลจากกรมศุลกากรจีนระบุว่า การค้าต่างประเทศของจีนขยายตัว 8.6% เมื่อเทียบเป็นรายปี แตะที่ 38.34 ล้านล้านหยวน (ราว 5.78 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2565
ท่ามกลางอุปสรรคทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลกอันเป็นผลมาจากไวรัส ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของจีนเติบโตในอัตราเฉลี่ย 4.6% ต่อปี ในช่วงไตรมาส 3 ปี 2562 ถึงไตรมาส 3 ปี 2565 จากข้อมูลขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลก
นอกจากนี้ จากข้อมูลของธนาคารกลางจีน จีนยังมีเงินเฟ้อในระดับค่อนข้างต่ำที่ 2% ในขณะที่สหรัฐอเมริกามีอัตราเงินเฟ้อสูงถึง 9.1% ในเดือนมิถุนายน 2565 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบกว่า 40 ปี ข้อมูลของมูดี้ส์ อนาไลติคส์ (Moody’s Analytics) ในปี 2565 ระบุว่า อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นทำให้ครอบครัวชาวอเมริกันทั่วไปต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้น 445 ดอลลาร์ต่อเดือนเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ในขณะที่ค่าใช้จ่ายด้านอาหาร พลังงาน และที่อยู่อาศัยที่พุ่งสูงขึ้นก็สร้างแรงกดดันมากขึ้นให้กับชาวอเมริกันหลายล้านครัวเรือนที่ต้องรัดเข็มขัดอยู่แล้ว ในทางตรงกันข้าม จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนราคาอาหารในจีนกำลังปรับตัวลดลง โดยลดลง 0.8% เมื่อเทียบรายเดือนในเดือนพฤศจิกายน
ข้อมูลเศรษฐกิจและความพร้อมในการดำเนินการด้านต่าง ๆ ของจีน สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายที่ชี้ให้เห็นว่า จีนพร้อมรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันเนื่องมาจากนโยบายของประเทศ ในขณะที่ความพร้อมในด้านต่าง ๆ ก็เป็นอีกประเด็นที่ถูกจับตากันต่อจากทุกฝ่าย หลังจากที่จีนได้เปิดประเทศและเทศกาลตรุษจีนกำลังจะมาถึงในเร็ว ๆ นี้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 ม.ค. 66)
Tags: COVID-19, จีน, เศรษฐกิจจีน, โควิด-19