กทม. พร้อมรับนทท.จีน ยึดมาตรการสธ.รัดกุม-เริ่มฉีดบูสเตอร์คนขับรถสาธารณะ

นางทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า กทม. เฝ้าระวังสถานการณ์ ในเรื่องของการที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศมาโดยตลอด ไม่ใช่เฉพาะประเทศใดประเทศหนึ่งจะเข้ามา แต่เนื่องจากประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนซึ่งมีจำนวนมาก ทำให้ไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวมากขึ้นเป็นทวีคูณ

ดังนั้น การกระชับมาตรการให้แน่นหนาขึ้น ก็เป็นแนวทางที่จะต้องดำเนิน จากการร่วมประชุมกระทรวงสาธารณสุข ทางกระทรวงก็พยายามเต็มที่ในการหาแนวทางบริหารจัดการนักท่องเที่ยวให้ได้ตั้งแต่ต้นทาง ไม่ว่าจะเป็นที่สนามบินสุวรรณภูมิ หรือดอนเมือง ซึ่งกทม. เป็นเขตติดต่อที่จะช่วยดูแล โดยมีกระทรวงสาธารณสุขดูแลทั้งประเทศ

รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวต่อว่า ตอนนี้เริ่มมีการประสานงานร่วมกัน ระหว่างกทม. กับกระทรวงสาธารณสุข จัดฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 สำหรับผู้ที่ขับรถสาธารณะทั้งหมด เพื่อให้มีการฉีดบูสเตอร์เข็ม 3-4 ให้เร็วที่สุด ดังนั้น ผู้ที่ใช้บริการรถสาธารณะ ก็จะมีความปลอดภัยได้ในระดับหนึ่ง

ขณะเดียวกัน กรณีที่มีหลายประเทศต้องการให้การเดินทางกลับของนักท่องเที่ยวมีผล RT-PCR ล่วงหน้า 48 ชั่วโมง กทม. ได้ให้ความเห็นว่า อยากให้มีการจัดระบบระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงคมนาคม และกรุงเทพมหานคร ในการบริหารจัดการกรณีต้องตรวจ RT-PCR ว่าสามารถตรวจได้ที่ไหน ค่าใช้จ่ายเป็นอย่างไร และหาก RT-PCR เป็นบวก นักท่องเที่ยวเดินทางกลับไม่ได้ จะให้บริการทางด้านการรักษาพยาบาล หรือการพักรอเพื่อที่จะเดินทางกลับไปด้วยวิธีการแบบใด

ทั้งนี้ กทม. เสนอว่า กรณีที่ประเทศใดที่ให้ตรวจ RT-PCR ก่อนกลับ จะต้องให้มีการซื้อประกันระยะสั้น เพื่อจะทำให้มีค่าบริหารจัดการ โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ระบุว่า เป็นข้อเสนอที่ดี และคิดว่าจะไปบริหารจัดการต่อ เพราะยังมีรายละเอียดค่อนข้างมากถ้าจะทำ

รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ส่วนสุดท้ายจะเป็นเรื่องของการประสานข้อมูลในพื้นที่ของฝั่งกทม. ปกติมีศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ฉุกเฉินทางสุขภาพของกทม. อยู่แล้ว โดยในวันที่ 10 ม.ค. 65 จะได้มาตรการในเชิงรายละเอียดของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อนำมาปรับใช้กับพื้นที่ของ ซึ่งผู้ว่าฯ กทม. ได้มอบให้ทุกสำนักงานเขตเริ่มเก็บข้อมูลว่า นักท่องเที่ยวที่อยู่ในพื้นที่เขตใดที่มีความเป็นกลุ่มก้อน และมีกิจกรรมอะไรบ้าง เพื่อให้สามารถติดตามหากมีการแพร่ระบาดเพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงการประสานกับผู้ประกอบการด้วย

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข อยากให้เน้นเรื่องมาตรการต่างๆ ที่เคยทำมา อาทิ SHA Plus ของสถานประกอบการ ให้มีความรัดกุมขึ้น ซึ่งทางกทม. จะพูดคุยกับทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กระทรวงการท่องเที่ยว และผู้ประกอบการต่างๆ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน

ในส่วนของศูนย์ประสานงานที่กำลังจะจัดตั้ง ทั้ง EOC ของสาธารณสุข และศูนย์ประสานงานระหว่างกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงคมนาคม และกระทรวงสาธารณสุข กทม. จะเข้าร่วมด้วยในฐานะผู้สนับสนุน และเจ้าของพื้นที่

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยว่า ต้องรอกระทรวงสาธารณสุขประกาศอีกทีว่ามีข้อกำหนดอย่างไร เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวในหลายประเทศที่จะเข้ามา โดยทางกทม. ได้ให้ความเห็นไว้แล้ว และพร้อมที่จะปฏิบัติตามนโยบายในภาพรวม

“ต้องดูให้รอบคอบ นักท่องเที่ยวที่มาเยอะขึ้น หากกลับไม่ได้เพราะติดเชื้อโควิด รวมถึงเรื่องการฉีดวัคซีน การตรวจหาเชื้อ ใครจะดูแลค่าใช้จ่าย ต้องขอบคุณนักท่องเที่ยวที่อยากมาเที่ยวประเทศไทย กทม. ยินดีต้อนรับอย่างดีที่สุดให้ทุกคนมาเที่ยวอย่างมีความสุขและกลับบ้านปลอดภัย” ผู้ว่าฯ กทม. กล่าว

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 ม.ค. 66)

Tags: , , , , , , , , ,
Back to Top