คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไม่รับพิจารณาข้อกล่าวหาคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และคณะกรรมการพิจารณาคุณสมบัติและคำเสนอขอขายไฟฟ้าด้านเทคนิค โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) ว่าพิจารณาคุณสมบัติของผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าโดยมิชอบกรณีหลายบริษัทมีกรรมการเป็นบุคคลเดียวกันอาจมีผลประโยชน์ร่วมกันและอาจจะทำให้เกิดการได้เปรียบและเสียเปรียบกัน เนื่องจากระเบียบไม่ได้ห้ามไว้
นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการ ป.ป.ช. กล่าวว่า หลังจาก ป.ป.ช.ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วฟังได้ว่าคณะรัฐมนตรีมีนโยบายส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาเพิ่มมูลค่า และเปิดโอกาสให้ชุมชนและประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตและบริหารจัดการพลังงานในพื้นที่ โดยให้ กกพ.กำหนดหลักการและเงื่อนไขการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการดังกล่าว ซึ่งมีผู้ยื่นข้อเสนอเข้าร่วมโครงการฯ ทั้งหมด 246 ราย
ในชั้นการพิจารณาคุณสมบัติและคำเสนอขอขายไฟฟ้าด้านเทคนิคพบว่ามีบริษัทผู้ยื่นคำขอเสนอขายไฟฟ้าหลายบริษัทมีกรรมการเป็นบุคคลกลุ่มเดียวกันทั้งหมดจริง แต่ระเบียบไม่ห้ามว้ คณะอนุกรรมการฯ จึงทำความเห็นเสนอคณะกรรมการพิจารณาคุณสมบัติฯ ว่าบริษัทดังกล่าวมีคุณสมบัติครบถ้วน จากนั้นคณะกรรมการพิจารณาคุณสมบัติฯ ได้ให้ความเห็นชอบรายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมากที่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติและคำเสนอขอขายไฟฟ้าด้านเทคนิค 95 โครงการ และมีผู้ไม่ผ่าน 151 โครงการ จากโครงการทั้งหมด 246 โครงการ
จากนั้นผู้ที่ไม่ผ่านการพิจารณาด้านคุณสมบัติและเทคนิคฯ 118 ราย ได้ยื่นอุทธรณ์ผลการพิจารณาต่อ กกพ.และมีผู้สมัครที่ผ่านการพิจารณาอุทธรณ์ดังกล่าวจำนวน 74 ราย ทำให้ท้ายที่สุดแล้วมีผู้ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติและความพร้อมด้านเทคนิค 169 ราย
สำหรับการพิจารณาด้านราคา มีผู้ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติ 169 ราย โดยมีคำเสนอขอขายไฟฟ้าด้านราคาไม่ถูกต้อง 10 ราย จึงนำคำเสนอขอขายไฟฟ้าด้านราคาที่ถูกต้อง 159 รายมาพิจารณา เรียงลำดับส่วนลดราคา (%) ศักยภาพระบบไฟฟ้า และเป้าหมายตามประเภทเชื้อเพลิงตามขั้นตอน จนได้ผู้รับการคัดเลือกรวมจำนวน 43 ราย ซึ่งมีบริษัทที่ได้รับการคัดเลือกที่มีรายชื่อกรรมการและผู้ถือหุ้นเป็นบุคคลเดียวกันทั้งหมด จำนวน 7 กลุ่ม รวม 40 ราย ตามที่ผู้กล่าวหาได้นำเรื่องมาร้องเรียน
คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาแล้วเห็นว่า กกพ.ไม่ได้มีหน้าที่หรือส่วนเกี่ยวข้องในขั้นตอนการพิจารณาคุณสมบัติของผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าในโครงการดังกล่าวที่ได้มีการออกประกาศการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เรื่อง รายชื่อผู้ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติและคำเสนอขอขายไฟฟ้าด้านเทคนิค โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) ตามที่กล่าวหา
ส่วนกรณีกล่าวหาคณะกรรมการพิจารณาคุณสมบัติฯ นั้น เนื่องจากการกำหนดเกี่ยวกับการคัดเลือกหรือจัดหาและกำกับวิธีการดำเนินการไว้เป็นการเฉพาะ มิใช่การจัดซื้อจัดจ้างและการดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งพัสดุ ตามนัยมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ ดังนั้นคณะกรรมการพิจารณาคุณสมบัติและคำเสนอขอขายไฟฟ้าด้านเทคนิคฯ จึงมีหน้าที่ในการพิจารณาคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ยื่นข้อเสนอราคาโครงการดังกล่าวตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในระเบียบ กกพ. ไม่ได้กำหนดให้ผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าต่างรายที่มีกรรมการบริษัทเป็นบุคคลกลุ่มเดียวกันเป็นลักษณะต้องห้ามที่ต้องถูกตัดสิทธิ จึงไม่เป็นการเอื้อประโยชน์แก่ผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้ารายใด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 ม.ค. 66)
Tags: กกพ., ป.ป.ช., โรงไฟฟ้า