นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสำหรับปี 2566 ว่า จะอยู่ในช่วง 2.0-3.0% (ค่ากลางที่ 2.5%) จากสมมติฐานสำคัญ คือ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยปีนี้ อยู่ที่ 3.0-4.0% ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปี ที่ระดับ 85-95 ดอลลาร์/บาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยน เฉลี่ยทั้งปี ที่ระดับ 36-37 บาท/ดอลลาร์
โดยอัตราเงินเฟ้อในปีนี้ จะเริ่มชะลอตัวลงจากปี 2565 อย่างชัดเจน ซึ่งปัจจัยที่จะส่งผลให้เงินเฟ้อในปีนี้จะขยายตัวไม่มากเช่นปีก่อน เนื่องจาก 1. ราคาสินค้าส่วนใหญ่เริ่มทรงตัวและบางรายการปรับลดลงหลังจากที่ทยอยปรับขึ้นตามต้นทุนแล้วในปีที่ผ่านมา 2.ราคาพลังงาน โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบ มีแนวโน้มชะลอตัวตามอุปสงค์โลกที่ลดลงตามสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ 3. ฐานราคาในปี 2565 ที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อค่อนข้างสูง และ 4. มาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ และการกำกับดูแลราคาสินค้าและบริการอย่างเป็นธรรมตลอดห่วงโซ่การผลิต มีส่วนทำให้อัตราเงินเฟ้อปี 2566 ขยายตัวไม่มากนัก
“กระทรวงพาณิชย์ คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2566 จะอยู่ในช่วง 2.0 – 3.0% มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากปี 2565 ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจของไทย และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ จะมีการทบทวนตัวเลขอีกครั้ง”
ผู้อำนวยการ สนค.ระบุ
อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นค่ากระแสไฟฟ้า การปรับขึ้นค่าจ้างทั้งระบบ และเงินบาทที่ยังผันผวน ซึ่งเป็นต้นทุนการผลิต รวมถึงอุปสงค์ในประเทศที่เพิ่มขึ้น และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้ราคาสินค้าและบริการปรับสูงขึ้นได้ ขณะที่ ปัจจัยเสี่ยงที่อาจจะกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อปี 2566 ได้แก่ 1.ความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก 2.ความเสี่ยงของปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ 3.สภาพอากาศที่แปรปรวน และ 4.การแพร่ระบาดของโควิด-19 และโรคระบาดในสัตว์ ซึ่งจะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป
นายพูนพงษ์ ยังประเมินถึงแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในไตรมาสแรก ของปี 2566 ด้วยว่า คาดว่าจะยังอยู่ในระดับสูง แต่อย่างไรก็ดี คงไม่สูงไปมากกว่า 5% แล้ว โดยจะเห็นอัตราเงินเฟ้อเริ่ม ทยอยปรับลดลงตั้งแต่เดือนเมษายน 2566 เป็นต้นไป เนื่องจากแนวโน้มราคาสินค้าเริ่มทรงตัว
พร้อมกันนี้ ยังเชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ระดับ 2-3% ในปีนี้ จะไม่เป็นแรงกดดันต่อภาวะเศรษฐกิจของไทยเหมือนเช่นในปี 2565 ที่ผ่านมา เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อในระดับดังกล่าว ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าประมาณการ GDP ที่สภาพัฒน์คาดการณ์ไว้ที่ 3-4% โดยเงินเฟ้อในปีนี้ จะเป็นการเพิ่มขึ้นจากฝั่งของ demand เป็นสำคัญ โดยเฉพาะจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่คาดว่าจะทยอยเดินทางเข้ามาในไทยมากกว่า 20 ล้านคน ซึ่งจะส่งผลให้มีความต้องการสินค้าและบริการต่างๆ เพิ่มขึ้น โดยอาจจะมีผลกระทบต่อราคาสินค้าอาหาร ค่าโรงแรมที่พัก รวมทั้งค่าเดินทาง ค่าขนส่ง เป็นต้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 ม.ค. 66)
Tags: กระทรวงพาณิชย์, พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์, เงินเฟ้อ, เศรษฐกิจ, เศรษฐกิจไทย