สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เผยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) เดือนธันวาคม 2565 เท่ากับ 107.86 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป สูงขึ้น 5.89% (YoY) ตามราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน และอาหารที่ยังสูงกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อน ประกอบกับฐานราคาในเดือนธันวาคม 2564 ไม่สูงมากนัก และอุปสงค์ในประเทศปรับตัวดีขึ้น
สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 65 สูงขึ้น 6.08% เป็นระดับที่ใกล้เคียงกับที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ไว้ว่าจะขยายตัวในช่วง 5.5 – 6.5% (ค่ากลาง 6.0%) และสูงสุดในรอบ 24 ปี นับตั้งแต่ปี 2541 ที่เงินเฟ้ออยู่ในระดับ 8.1%
อัตราเงินเฟ้อในปี 65 ที่สูงขึ้นดังกล่าว มีปัจจัยสำคัญมาจากราคาพลังงานที่สูงขึ้น เนื่องจากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายสำคัญควบคุมปริมาณการผลิต และปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้อุปทานการผลิตพลังงานตึงตัวมากขึ้น และส่งผลมายังราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง ค่ากระแสไฟฟ้า และก๊าซหุงต้มในประเทศ
ทั้งนี้ ราคาพลังงานที่สูงขึ้น รวมถึงการปรับขึ้นค่าจ้าง อัตราดอกเบี้ย และเงินบาทที่อ่อนค่า ยังเป็นต้นทุนที่แฝงอยู่เกือบทุกขั้นตอนการผลิต ส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการหลายประเภททยอยปรับเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ โรคระบาดในสุกร ปัญหาอุทกภัย อุปสงค์ในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น ฐานราคาในปี 64 ที่อยู่ในระดับต่ำ รวมถึงราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้น มีส่วนทำให้เงินเฟ้อปี 65 อยู่ในระดับสูง
อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับลดลงในช่วงปลายปี สถานการณ์อุทกภัยที่คลี่คลาย และมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี ส่งผลให้เงินเฟ้อในช่วงปลายปี 65 ชะลอตัว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 ม.ค. 66)
Tags: CPI, กระทรวงพาณิชย์, ดัชนีราคาผู้บริโภค, สนค., สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า, อัตราเงินเฟ้อ, อุปสงค์, เงินเฟ้อ, เศรษฐกิจไทย