ทริสฯ คงเครดิตองค์กร-หุ้นกู้ MAJOR ที่ “A-” แนวโน้ม “Stable”

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บมจ.เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป (MAJOR) ที่ระดับ “A-” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่”

อันดับเครดิตสะท้อนถึงผลการดำเนินงานของบริษัทที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นจากการฟื้นตัวของจำนวนผู้เข้าชมภาพยนตร์และจากระดับหนี้สินที่ปรับตัวดีขึ้น อีกทั้งยังคงสะท้อนถึงสถานะผู้นำของบริษัทในธุรกิจโรงภาพยนตร์ในประเทศไทย ตลอดจนการมีโรงภาพยนตร์ซึ่งตั้งอยู่ในทำเลที่ดีทั่วประเทศ และสถานะที่เป็นเอกลักษณ์ของบริษัทในธุรกิจสื่อโฆษณา

อย่างไรก็ตาม จุดเด่นดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากความอ่อนไหวต่อปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ต่าง ๆ อาทิ ปริมาณของภาพยนตร์ที่เข้าฉาย รวมทั้งความเป็นที่นิยมของภาพยนตร์ และการแข่งขันที่สูงขึ้นจากกิจกรรมนันทนาการประเภทอื่น ๆ

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

– คาดว่าผลการดำเนินงานจะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ผฃการดำเนินงานของบริษัทเริ่มฟื้นตัวขึ้นในปี 2565 จากจำนวนผู้เข้าชมภาพยนตร์ที่เริ่มฟื้นตัวกลับมาหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) คลี่คลายลง โดยรายได้จากโรงภาพยนตร์ของบริษัททยอยฟื้นตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญหลังจากที่รัฐบาลทยอยผ่อนคลายมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคมตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 ถึงไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 ซึ่งทำให้บริษัทมีรายได้เติบโต 174% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนโดยเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 4.7 พันล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 (หรือคิดเป็น 58% ของช่วงเดียวกันในปี 2562) จากผลของการปรับตัวเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้เข้าชม ตลอดจนการมีภาพยนตร์ต้นทุนสูงเข้าฉายมากขึ้น และฐานรายได้ที่ต่ำจากการปิดโรงภาพยนตร์ตามมาตรการของรัฐบาลในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 ของปี 2564

ทริสเรทติ้งคาดว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจากการที่ประชาชนมีความมั่นใจมากขึ้นในการทำกิจกรรมนอกบ้านและการมีภาพยนตร์ต้นทุนสูงที่มีแผนเข้าฉายมากขึ้นในปี 2566 ทั้งนี้ ภายใต้สมมติฐานกรณีพื้นฐานทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทจะเติบโตขึ้น 95% เป็น 6.5 พันล้านบาทในปี 2565 (คิดเป็นประมาณ 60% ของรายได้ในปี 2562) จากนั้นจะเพิ่มขึ้น 40% เป็น 9.1 พันล้านบาทในปี 2566 (ประมาณ 80% ของรายได้ในปี 2562) และจะเพิ่มขึ้น 8% เป็น 9.9 พันล้านบาทในปี 2567 (ประมาณ 90% ของรายได้ในปี 2562)

บริษัทได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการปรับต้นทุนให้ลดลงเพื่อแก้ไขปัญหารายได้ที่ลดลงอย่างมากในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยสามารถรักษาอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ต่อรายได้ไว้ที่ระดับประมาณ 24% ได้ในปี 2563 ก่อนที่จะปรับตัวดีขึ้นเป็น 31% ในปี 2564 จนถึง 9 เดือนแรกของปี 2565 โดยเป็นผลจากการควบคุมต้นทุนที่มีประสิทธิภาพและอีกส่วนหนึ่งจากการได้รับส่วนลดค่าเช่าจากผู้ให้เช่าในช่วงที่มีผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับที่น่าพอใจโดยคาดว่าอัตราส่วน EBITDA ต่อรายได้จะอยู่ที่ระดับประมาณ 30%-32% ในช่วงระหว่างปี 2566-2567 จากการที่รายได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นและบริษัทยังคงสามารถบริหารจัดการต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไปแม้ว่ารายจ่ายค่าเช่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับปกติก็ตาม

– การฟื้นตัวของธุรกิจโฆษณาช้ากว่าการฟื้นตัวของธุรกิจโรงภาพยนตร์ รายได้จากธุรกิจโฆษณาของบริษัทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 ฟื้นตัวกลับขึ้นมาอยู่ที่ระดับประมาณ 40% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 จากระดับประมาณ 20% ในปี 2564 แต่ยังช้ากว่าการฟื้นตัวของธุรกิจโรงภาพยนตร์และธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากธุรกิจโฆษณาของบริษัทจะทยอยปรับตัวดีขึ้นในระหว่างปี 2566-2567 โดยสอดคล้องกับจำนวนผู้เข้าชมภาพยนตร์ที่จะเพิ่มขึ้น ตลอดจนภาพยนตร์ต้นทุนสูงที่จะเข้าฉายมากขึ้น และการใช้จ่ายเพื่อการโฆษณาที่จะฟื้นตัวกลับมามากขึ้น โดยคาดว่ารายได้จากธุรกิจโฆษณาของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 600 ล้านบาทในปี 2565 และจะเพิ่มเป็นประมาณ 1 พันล้านบาทในปี 2566 และ 1.1 พันล้านบาทในปี 2567

ทริสเรทติ้งมองว่าเครือข่ายโรงภาพยนตร์ของบริษัทและปริมาณผู้เข้าชมจำนวนมากทั่วประเทศจะยังคงเป็นสิ่งดึงดูดความสนใจของนักโฆษณาต่อไป ส่วนบริษัทเองนั้นก็สามารถให้บริการรูปแบบการโฆษณาได้หลากหลายวิธีและผู้โฆษณายังสามารถใช้โรงภาพยนตร์ของบริษัทเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมการโฆษณาประชาสัมพันธ์หรือเป็นสถานที่ในการจัดกิจกรรมทางการตลาดได้อีกด้วย ทั้งนี้ ธุรกิจโฆษณายังคงเป็นแหล่งสร้างกระแสเงินสดที่มีนัยสำคัญของบริษัทเนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีค่าใช้จ่ายต่ำ โดยในช่วงก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 นั้น EBITDA จากธุรกิจโฆษณาคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 50% ของ EBITDA ทั้งหมดของบริษัท

– เป็นผู้นำในธุรกิจโรงภาพยนตร์ในประเทศไทย บริษัทเป็นผู้ประกอบธุรกิจโรงภาพยนตร์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยโดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ระดับ 70% ของรายได้จากการฉายภาพยนตร์ในช่วงสัปดาห์แรก ทั้งนี้ การมีสถานะเป็นผู้นำทางการตลาดช่วยให้บริษัทมีอำนาจในการต่อรองกับผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์ ตลอดจนผู้ผลิตภาพยนตร์ และผู้จัดหาสินค้าต่าง ๆ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังสามารถรักษาสถานะความเป็นผู้นำดังกล่าวเอาไว้ได้เนื่องจากบริษัทมีแผนจะเพิ่มจำนวนจอภาพยนตร์ให้มากขึ้นอีกปีละ 40-50 จอจากจำนวน 829 จอ ณ เดือนกันยายน 2565

– ผลการดำเนินงานขึ้นอยู่กับความสำเร็จของภาพยนตร์ที่ออกฉายใหม่ รายได้จากผู้ชมภาพยนตร์ของบริษัทนั้นขึ้นอยู่กับจำนวนภาพยนตร์ที่ออกฉายรวมถึงคุณภาพและความนิยมของภาพยนตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพยนตร์ต่างประเทศ ทั้งนี้ ในช่วงปี 2558-2562 รายได้จากภาพยนตร์ต่างประเทศมีสัดส่วนมากกว่า 80% ของรายได้จากการฉายภาพยนตร์ของบริษัท บริษัทผู้สร้างภาพยนตร์ในประเทศสหรัฐอเมริกาได้เลื่อนการฉายภาพยนตร์ต้นทุนสูงส่วนใหญ่ออกไปในปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 มีความรุนแรงและหลังจากนั้นได้นำออกมาฉายมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 จนถึงปี 2565 ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าภาพยนตร์ต้นทุนสูงที่จะเข้าฉายมากขึ้นในปี 2566 จะมีส่วนช่วยให้ผลการดำเนินงานของบริษัทฟื้นตัวขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความเสี่ยงที่กำหนดการฉายภาพยนตร์ฮอลลีวูดอาจมีการเปลี่ยนแปลงซึ่งขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศสหรัฐฯ และประเทศจีนซึ่งเป็นประเทศหลักที่สร้างรายได้จากการฉายในโรงภาพยนตร์ทั่วโลก

ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดนั้น ผู้ผลิตภาพยนตร์รายใหญ่ได้ทดลองฉายภาพยนตร์ในโรงพร้อมกับช่องทางอื่นเช่นการฉายในระบบบอกรับสมาชิก (Streaming Service) หรือทดลองลดช่วงห่างของระยะเวลาระหว่างการฉายภาพยนตร์ในโรงกับการเผยแพร่ในช่องทางอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดดีขึ้น ผู้ผลิตภาพยนตร์เหล่านี้ก็กลับมาฉายภาพยนตร์ในโรงก่อนที่จะเผยแพร่ในช่องทางอื่น ๆ เช่น ช่องทาง Premium Video On Demand หรือช่องทางระบบบอกรับสมาชิก ทริสเรทติ้งเชื่อว่าการรักษาระยะห่างที่เหมาะสมระหว่างการฉายภาพยนตร์ในโรงกับการเผยแพร่ในช่องทางอื่น ๆ ยังเป็นวิธีที่ดีที่สุดสำหรับผู้ผลิตภาพยนตร์ในการที่จะสร้างรายได้ให้ได้มากที่สุดและเป็นแนวทางที่ดีที่สุดในการทำการตลาดภาพยนตร์ต้นทุนสูง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้สร้างทั้งในแง่รายได้ที่จะได้รับจากการเข้าฉายในโรงและการจำหน่ายภาพยนตร์ให้แก่ผู้ให้บริการในระบบบอกรับสมาชิก

เพื่อลดการพึ่งพิงภาพยนตร์จากต่างประเทศลงในขณะที่ยังคงเพิ่มจำนวนภาพยนตร์ที่ออกฉาย บริษัทจึงมีแผนจะผลิตภาพยนตร์ไทยเพิ่มมากขึ้นจากประมาณ 10 เรื่องเป็น 20 เรื่องต่อปีโดยใช้กลยุทธ์การสร้างความร่วมมือกับผู้ร่วมทุนหลายรายในการผลิตและฉายภาพยนตร์ไทย เนื่องจากบริษัทมีจำนวนจอภาพยนตร์มากกว่าครึ่งหนึ่งอยู่ในโรงภาพยนตร์ในต่างจังหวัดซึ่งผู้ชมมีความชื่นชอบในการชมภาพยนตร์ไทยมากกว่า จำนวนภาพยนตร์ไทยที่ออกฉายมากขึ้นจะช่วยให้บริษัทมีรายได้จากโรงภาพยนตร์ในต่างจังหวัดเพิ่มมากขึ้นและจะลดการพึ่งพิงภาพยนตร์ฮอลลีวูดลง ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าให้รายได้จากภาพยนตร์ไทยและภาพยนตร์ต่างประเทศมีสัดส่วนใกล้เคียงกันในอนาคต อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของภาพยนตร์ไทยที่บริษัทผลิตเองนั้นยังคงต้องรอการพิสูจน์ด้วยเช่นกัน

– เผชิญกับการแข่งขันจากกิจกรรมนันทนาการประเภทอื่น ๆ และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ธุรกิจโรงภาพยนตร์ต้องเผชิญกับการแข่งขันจากกิจกรรมนันทนาการประเภทอื่น ๆ ที่มีการพัฒนาจนอาจทดแทนกิจกรรมเดิมที่มีอยู่ได้ ตัวอย่างเช่น บริการความบันเทิงที่เข้าถึงได้อย่างกว้างขวางผ่านระบบอินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์โทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งได้สร้างทางเลือกที่มากขึ้นให้แก่ผู้บริโภค อีกทั้งสถานการณ์โรคโควิด 19 ยังเป็นปัจจัยเร่งและขยายการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคโดยทำให้ผู้บริโภคต้องเปลี่ยนพฤติกรรมการรับชมความบันเทิงจากที่เคยทำนอกบ้านมาเป็นรับชมที่บ้านในช่วงที่มีมาตรการจำกัดการเดินทางและจำกัดการทำกิจกรรมนอกบ้านเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งทำให้ผู้บริโภคมีความคุ้นเคยกับการรับชมความบันเทิงจากเนื้อหาวิดีโออยู่ที่บ้านโดยผ่านทางระบบบอกรับสมาชิก ตลอดจนระบบ Video On Demand และสื่อสังคมออนไลน์มากยิ่งขึ้น เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว บริษัทจึงได้มีการปรับปรุงยกระดับโรงภาพยนตร์อย่างต่อเนื่องทั้งการติดตั้งจอภาพยนตร์ระบบดิจิทัลและระบบเสียงที่มีคุณภาพสูง รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกระดับพิเศษอื่น ๆ เพื่อดึงดูดผู้ชม นอกจากนี้ บริษัทยังนำเสนอนวัตกรรมโรงภาพยนตร์รูปแบบใหม่ที่จะช่วยให้บริษัทคงความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงสร้างความแปลกใหม่ให้แตกต่างไปจากการชมภาพยนตร์ภายในบ้าน และพัฒนาคุณภาพประสบการณ์ในการชมภาพยนตร์ในโรงให้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งเชื่อว่าโรงภาพยนตร์จะยังคงให้ประสบการณ์ที่เป็นเอกลักษณ์ที่การชมภาพยนตร์ในรูปแบบอื่น ๆ ยังไม่สามารถทดแทนได้ซึ่งจะช่วยดึงดูดผู้ชมได้เป็นจำนวนมากแม้ว่ากิจกรรมนันทนาการประเภทอื่น ๆ จะมีความแพร่หลายมากขึ้นก็ตาม

– ภาระหนี้คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นจากผลการดำเนินงานที่ฟื้นตัว หนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วของบริษัทปรับตัวสูงขึ้นเป็น 8.8 พันล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 จาก 5.9 พันล้านบาทในปี 2564 โดยมีสาเหตุจากการที่บริษัทได้ลงทุนในหุ้นสามัญของ บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) เป็นจำนวนเงินรวมประมาณ 2.2 พันล้านบาท อย่างไรก็ตาม ภาระหนี้ของบริษัทเมื่อวัดจากอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA นั้นปรับตัวดีขึ้นเป็น 4.4 เท่าในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 จาก 5.9 เท่าในปี 2564 จากการมี EBITDA ที่ปรับตัวดีขึ้น ทริสเรทติ้งคาดว่าในอนาคตภาระหนี้ของบริษัทจะปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับประมาณ 3 เท่าในช่วงระหว่างปี 2566-2567 จากการที่ EBITDA ฟื้นตัวขึ้นในขณะที่หนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วเพิ่มสูงขึ้นเล็กน้อย โดยคาดว่าบริษัทจะมีเงินลงทุนที่ประมาณ 800 ล้านบาทต่อปีและจะมีเงินลงทุนในการซื้อและสร้างภาพยนตร์ที่ประมาณ 400 ล้านบาทต่อปีในช่วง 2 ปีข้างหน้า

ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทจะมีสภาพคล่องที่เพียงพอในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ บริษัทมีแหล่งเงินทุนซึ่งประกอบไปด้วยเงินสดในมือจำนวน 870 ล้านบาท ณ เดือนกันยายน 2565 นอกจากนี้ บริษัทยังมีวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกใช้จากสถาบันการเงินต่าง ๆ อีกจำนวน 5 พันล้านบาทและคาดว่าบริษัทจะมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ประมาณ 2 พันล้านบาทในปี 2566 อีกด้วย ในขณะที่ในช่วง 12 เดือนข้างหน้าแผนการใช้เงินทุนของบริษัทจะประกอบด้วยการชำระหนี้จำนวนประมาณ 750 ล้านบาทรวมทั้งงบลงทุนและงบผลิตภาพยนตร์รวม 1.2 พันล้านบาท

ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขของหุ้นกู้ได้ในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ บริษัทมีอัตราส่วนหนี้สิน (ไม่รวมหนี้สินจากสัญญาเช่า) ต่อส่วนของผู้ถือหุ้น ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 อยู่ที่ 0.67 เท่าซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าเพดานสูงสุดที่ 1.5 เท่าตามเงื่อนไขของหุ้นกู้ที่กำหนดไว้

อนึ่ง บริษัทไม่มีหนี้ที่มีสิทธิ์ได้รับชำระคืนก่อน ณ เดือนกันยายน 2565

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

สมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งสำหรับการดำเนินงานของบริษัทในระหว่างปี 2565-2567 ดังต่อไปนี้

– รายได้จะเพิ่มขึ้นเป็น 6.5 พันล้านบาทในปี 2565 และจะเพิ่มขึ้นเป็น 9.1 พันล้านบาทในปี 2566 และ 9.9 พันล้านบาทในปี 2567

– อัตราส่วน EBITDA ต่อรายได้ที่ปรับปรุงแล้วจะอยู่ที่ระดับประมาณ 30%-32% ในช่วงเวลาประมาณการ

– งบประมาณการลงทุนจะอยู่ที่ประมาณ 800 ล้านบาทต่อปี ส่วนงบประมาณในการซื้อและผลิตภาพยนตร์จะอยู่ที่ประมาณ 400 ล้านบาทต่อปีในช่วงระหว่างปี 2566-2567

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจากจำนวนผู้เข้าชมภาพยนตร์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในขณะที่บริษัทยังคงรักษาระดับหนี้สินทางการเงินให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ อีกทั้งบริษัทจะสามารถรักษาสถานะที่แข็งแกร่งในธุรกิจโรงภาพยนตร์เอาไว้ได้

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง อันดับเครดิตอาจปรับลดลงหากบริษัทมีการลงทุนโดยใช้เงินจำนวนมาก และ/หรือมีผลการดำเนินงานที่อ่อนตัวลงอย่างมีนัยสำคัญจนทำให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ที่ปรับปรุงแล้วเพิ่มสูงขึ้นเกินกว่า 5 เท่าเป็นเวลานาน ในขณะที่อันดับเครดิตอาจปรับเพิ่มขึ้นได้หากผลการดำเนินงานของบริษัทมีการฟื้นตัวกลับไปใกล้เคียงกับระดับก่อนเกิดโรคโควิด 19 อย่างเห็นได้ชัดโดยมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ที่ปรับปรุงแล้วอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 3 เท่าอย่างต่อเนื่อง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 ม.ค. 66)

Tags: , , , , ,
Back to Top