อินโดนีเซียวางแผนจัดตั้งตลาดซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีในปี 2566 ก่อนที่จะเปลี่ยนผ่านอำนาจการกำกับดูแลสินทรัพย์คริปโทฯ ไปให้กับสำนักงานบริการด้านการเงิน (FSA)
ในปัจจุบัน สินทรัพย์คริปโทฯ ในอินโดนีเซียมีการซื้อขายควบคู่ไปกับสัญญาสินค้าโภคภัณฑ์ภายใต้การดูแลของสำนักงานกำกับดูแลการซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์ล่วงหน้า (Commodity Futures Trading Regulatory Agency) หรือ Bappebti โดยนายดิดิด นูร์ดิยาโมโก รักษาการผู้อำนวยการ Bappebti กล่าวว่า FSA จะเข้าควบคุมดูแลสินทรัพย์ประเภทดังกล่าวตลอดช่วงเวลา 2 ปีข้างหน้า จนกระทั่งถึงเวลาจัดตั้งตลาดซื้อขายคริปโทฯ โดยแผนการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปภาคการเงินที่กว้างขึ้น
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ที่ผ่านมานั้น อินโดนีเซียให้การสนับสนุนสินทรัพย์คริปโทฯ แม้มีความกังวลว่าสินทรัพย์ประเภทนี้จะเข้ามาแข่งขันกับรูเปียห์ซึ่งเป็นสกุลเงินเพียงสกุลเดียวที่สามารถซื้อขายได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายภายในประเทศ ทางด้านธนาคารกลางอินโดนีเซียได้ออกรายงานสมุดปกขาวเพื่อแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัล โดยเมื่อไม่นานมานี้ อินโดนีเซียได้ผ่านกฎหมายรับรองให้สกุลเงินคริปโทฯ และสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นหลักทรัพย์ที่ต้องมีการกำกับดูแล
ทั้งนี้ นักลงทุนรายใหม่ ๆ ยังคงเดินหน้าเข้าลงทุนในตลาดคริปโทฯ แม้ว่ากิจกรรมการซื้อขายในตลาดทรุดตัวลงในปีที่แล้ว โดยมีนักลงทุนคริปโทฯ จำนวนมากถึง 16 ล้านคนในอินโดนีเซียในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2565 จากจำนวน 11.2 ล้านคนในช่วงสิ้นปี 2564 ขณะที่มูลค่าการซื้อขายลดลงสู่ระดับประมาณ 300 ล้านล้านรูเปียห์ (1.92 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2565 ซึ่งห่างไกลอย่างมากเมื่อเทียบกับมูลค่าการซื้อขาย 859 ล้านล้านรูเปียห์ในปีก่อนหน้า
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 ม.ค. 66)
Tags: Cryptocurrency, FSA, คริปโทเคอร์เรนซี, สำนักงานบริการด้านการเงิน, สินทรัพย์ดิจิทัล, อินโดนีเซีย