กรุงเทพมหานคร (กทม.) ขาดทุนหนักโครงการระบบสาธารณูปโภค และระบบโดยสารสาธารณะ โดยเฉพาะโครงการท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดิน ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ยุคผู้ว่าราชการ กทม.ในอดีต รวมทั้งการเดินเรือไฟฟ้าคลองผดุงกรุงเกษม เรือโดยสารคลองแสนแสบ และบริการรถโดยสาร BRT จำต้องทบทวนรูปแบบดำเนินการให้เกิดความเหมาะสม และคุ้มค่ากับงบประมาณที่ลงทุนไป
“โครงการทั้งหมด กทม.ไม่ได้ยกเลิก แต่จะทบทวนให้มีความเหมาะสมมากขึ้น” นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่า กทม.แถลงเช้านี้
สำหรับโครงการก่อสร้างท่อร้อยสายใต้ดินนั้น กทม.ได้ว่าจ้าง บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของกทม. ได้รับสิทธิเป็นผู้ดำเนินการใช้พื้นที่ของ กทม.ในการก่อสร้างท่อร้อยสายใต้ดินและนำสายสื่อสารลงใต้ดิน รวมระยะทาง 2,450 กม. มูลค่าลงทุน 1.93 หมื่นล้านบาท โดยบริษัทรับผิดชอบค่าลงทุนเองและขายบริการให้แก่ผู้เช่า
นายวิศณุ กล่าวว่า โครงการดังกล่าว เริ่มลงนามตั้งแต่ ธ.ค.61 ผ่านไป 4 ปีจนถึงปัจจุบันได้ก่อสร้างท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินแล้วเสร็จไป 9.9 กม. แต่ยังไม่มีโอเปอร์เรเตอร์รายใดเข้ามาใช้บริการเลย ถือเป็นการลงทุนที่สูญเปล่า นับเป็นบทเรียนราคาแพงของภาครัฐที่ต้องศึกษาความเป็นไปได้ให้รอบคอบก่อนจะตัดสินใจดำเนินโครงการใดๆ จึงจำเป็นต้องทบทวนโครงการนี้
“KT ได้ก่อสร้างท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินไปแล้ว 9.9 กม. แต่ปัญหาคือ โครงการมีแต่รายจ่าย ยังไม่เกิดรายได้ เพราะลงทุนไปก่อน แล้วคาดหวังว่าผู้ให้บริการจะนำสายมาเช่าท่อเพื่อร้อยสาย แต่พบว่า 4 ปีที่ผ่านมา ระยะทาง 9.9 กม. ไม่มีโอเปอร์เรเตอร์รายไหนมาใช้บริการ เท่ากับที่สร้างท่อไปสูญเงินเปล่า เขาไปเช่ารายอื่น เช่น NT ดังนั้น เราเลยให้ทบทวนว่าถ้าเดินหน้าจ้าง KT ไปเรื่อยๆ ก็จะมีแต่รายจ่าย มีแต่หนี้ ดังนั้นจะทำอย่างไร ยกตัวอย่าง ที่ KT ทำแล้ว ค่าจ้าง 118 ล้านบาท เป็นค่าก่อสร้าง ยังไม่รวมค่าที่ปรึกษา ค่าออกแบบ ดังนั้นก็ต้องทบทวน เราไม่ได้ยกเลิก แต่รูปแบบธุรกิจที่ KT ทำ มันเดินต่อไม่ได้” รองผู้ว่าฯ กทม.ระบุ
นอกจากนี้ ทางคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้มีข้อเสนอแนะถึงโครงการก่อสร้างท่อร้อยสายใต้ดิน โดยมีข้อทักท้วงหลายประเด็น ซึ่ง กทม.ก็เห็นด้วยกับการตั้งข้อสังเกตนี้ จึงให้มีการทบทวนโครงการดังกล่าว
“โครงการท่อร้อยสายใต้ดินของ KT ที่ยังไมีมีคนใช้ จะทำอย่างไรต่อไปนั้น ต้องให้ KT เป็นผู้ตอบ แต่เรา (กทม.) คงจะช่วยหาลูกค้าให้ เรื่องนี้ถือเป็นบทเรียนราคาแพงว่าการจะทำอะไร ต้องดูความเป็นไปได้ด้วย ไม่ใช่จะจ่ายเงินไปก่อน แต่พอเอาเข้าจริง รายรับไม่มา คนไม่ใช้บริการ คงเป็นบทเรียนของภาครัฐ ที่ต้องศึกษาความเป็นไปได้ให้รอบคอบก่อน” รองผู้ว่าฯ กทม.กล่าว
สำหรับการเดินเรือไฟฟ้าในคลองผดุงกรุงเกษมได้เริ่มโครงการมาตั้งแต่กลางปี 63 และสิ้นสุดสัญญาแรกเมื่อ ก.ย.65 ใช้งบประมาณโครงการ 106 ล้านบาท โดยหยุดให้บริการชั่วคราว เนื่องจากต้องพร่องน้ำในคลองผดุงฯ เพื่อเตรียมระบายน้ำหน้าฝน ประกอบกับปริมาณผู้โดยสารลดลงค่อนข้างมากในช่วงโควิด หากยังเปิดให้บริการต่อไปอาจจะไม่คุ้มค่า จึงจำเป็นต้องยุติโครงการไว้ก่อนเพื่อกลับมาทบทวนรูปแบบการให้บริการที่คุ้มค่า และเกิดประโยชน์สูงสุด
ทั้งนี้ กทม.ได้เตรียมจะเปิดประกวดราคาในเดือนเม.ย.66 เพื่อหาผู้รับจ้างให้บริการเดินเรือในคลองผดุงฯ ต่อ ซึ่งจะพิจารณาแนวทางอื่นควบคู่กันไปด้วย เช่น
แนวทางแรกคือ หาฟีดเดอร์ในรูปแบบอื่น การพิจารณาเส้นทางเดินเรือ พฤติกรรมของผู้โดยสาร
แนวทางที่สอง อาจเปิดให้ให้เอกชนที่สนใจมาเดินเรือในคลองผดุงฯ เพื่อการท่องเที่ยว หรือเรือแท็กซี่
แนวทางที่ 3 รัฐยังคงสนับสนุนบริการเดินเรือต่อไป แต่จะต้องมีการทบทวนรูปแบบการให้บริการ
“ช่วงที่เปิดบริการแรกๆ ในปี 63 มีคนใช้บริการมากถึง 2 หมื่นคน/เดือน และ drop ลงไปในช่วงโควิด แต่พอมาปี 65 ที่โควิดคลี่คลายแล้ว ผู้โดยสารคงที่วันละ 300-400 คน หรือประมาณ 13,000-14,000 คน/เดือน ขนาดให้ขึ้นฟรี ยังมีคนขึ้นแค่ 400 คน เมื่อเทียบกับค่าจ้างเดินเรือ เดือนละ 2.4 ล้านบาท หารแล้วตก 170 บาท/คน ถ้าเรายังเสียค่าจ้างในรูปแบบเดิมต่อไปเดือนละ 2.4 ล้าน ไม่รวมค่าซ่อมบำรุง มันคุ้มหรือไม่ มีทางเลือกอื่นไหม หรือปรับรูปแบบบริการให้สอดคล้องความต้องการใช้จริง จึงต้องให้มีการทบทวนใหม่
เราของบปี 66 ไว้แล้ว คือจ้างระยะเวลา 5 ปี วงเงิน 140 ล้านบาท ตก 2.4 ล้านบาท/เดือน…ต้องทบทวนรูปแบบการให้บริการ ว่าจะมีฟีดเดอร์เข้ามาหรือไม่ เรายังไม่ปิดช่อง อาจเดินเรือให้นักท่องเที่ยว เราไม่ได้ยุติโครงการ แค่กลับมาทบทวนรูปแบบการใช้บริการที่คุ้มค่า และให้เกิดประโยชน์สูงสุด” นายวิศณุ กล่าว
ขณะที่การเดินเรือในคลองแสนแสบซึ่งมีปริมาณผู้โดยสารน้อยลงนั้น จะหมดสัญญาในปี 68 ระหว่างนี้ยังมีเวลาเหลืออีก 40 เดือน ซึ่งจะมีการทบทวนรูปแบบให้สอดคล้องพฤติกรรมการใช้บริการ โดยปรับการบริหารจัดการให้ดีขึ้น แต่ยืนยันว่าไม่ใช่การยกเลิกสัญญา โดยปัจจุบันมีเรือให้บริการรวม 12 ลำ
ส่วนการให้บริการรถโดยสาร BRT ซึ่งจะหมดสัญญาในเดือน ส.ค.66 อาจจะต้องทบทวนรูปแบบใหม่ เนื่องจากที่ผ่านมาขาดทุนค่อนข้างมาก ดังนั้นต้องหารูปแบบอื่นที่สามารถลดค่าใช้จ่ายลงได้ ตอนนี้อยู่ระหว่างการวิเคราะห์รูปแบบการให้บริการ เส้นทาง และเพิ่มความคุ้มค่าด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 ม.ค. 66)
Tags: กทม., ท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดิน, วิศณุ ทรัพย์สมพล, เรือไฟฟ้า