ดาวโจนส์ปิดลบ 10.88 จุด หุ้นแอปเปิ้ล-เทสลาร่วงฉุดตลาด

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบในวันอังคาร (3 ม.ค.) ขณะที่ดัชนี S&P500 และ Nasdaq ปิดในแดนลบเช่นกัน เนื่องจากการร่วงลงอย่างหนักของหุ้นเทสลาและแอปเปิ้ลเป็นปัจจัยฉุดตลาด นอกจากนี้ นักลงทุนยังกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย พร้อมกับจับตารายงานการประชุมประจำเดือนธ.ค.ของเฟดซึ่งจะมีการเผยแพร่ในวันพุธตามเวลาสหรัฐ

  • ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 33,136.37 จุด ลดลง 10.88 จุด หรือ -0.03%,
  • ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,824.14 จุด ลดลง 15.36 จุด หรือ -0.40% และ
  • ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 10,386.98 จุด ลดลง 79.50 จุด หรือ -0.76%

หุ้นเทสลา ดิ่งลง 12.24% หลังมีรายงานว่าเทสลาส่งมอบรถยนต์จำนวน 405,278 คันในไตรมาส 4/2564 ซึ่งแม้ว่าเพิ่มขึ้นจากระดับ 308,600 คันในช่วงเดียวกันของปี 2564 แต่ก็ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 409,000-433,000 คัน

นอกจากนี้ หุ้นเทสลายังได้รับผลกระทบจากการที่เกาหลีใต้สั่งปรับบริษัทเป็นจำนวนเงิน 2.85 พันล้านวอน (2.2 ล้านดอลลาร์) เนื่องจากเทสลาโฆษณาเกินจริงเกี่ยวกับระยะการขับขี่ของรถยนต์จากการชาร์จเพียงครั้งเดียว โดยไม่ได้แจ้งให้ผู้ซื้อทราบว่ารถยนต์ไฟฟ้า (EV) ของเทสลาจะมีระยะการขับขี่สั้นกว่าปกติในสภาพอากาศหนาวเย็น โดยมีระยะสั้นลงถึง 50.5% เมื่อเทียบกับที่บริษัทโฆษณา

หุ้นแอปเปิ้ล ร่วงลง 3.74% ปิดที่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2564 ส่งผลให้มูลค่าตลาดของแอปเปิ้ลดิ่งหลุดจากระดับ 2 ล้านล้านดอลลาร์เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนมี.ค. 2564

ราคาหุ้นแอปเปิ้ลร่วงลง หลังจากสำนักข่าวนิกเกอิเอเชียรายงานว่าความต้องการผลิตภัณฑ์ iPhone ชะลอตัวลง นอกจากนี้ ราคาหุ้นยังถูกกดดันจากการที่นักวิเคราะห์ปรับลดน้ำหนักความน่าลงทุนของหุ้นแอปเปิ้ลเนื่องจากการผลิตที่ลดลงในประเทศจีน อันเนื่องมาจากผลกระทบของโรคโควิด-19 ที่แพร่ระบาดอย่างหนัก

หุ้นกลุ่มพลังงานร่วงลงอย่างหนัก หลังจากราคาน้ำมัน WTI ดิ่งลงกว่า 4% เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับอุปสงค์ที่ชะลอตัวลงในจีนและแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา โดยหุ้นเอ็กซอน โมบิล ร่วงลง 3.44% หุ้นเชฟรอน ร่วงลง 3.08% หุ้นฮัลลิเบอร์ตัน ดิ่งลง 4.29% หุ้นโคโนโคฟิลลิปส์ ร่วงลง 4.14%

นอกจากนี้ ตลาดยังถูกกดดันจากรายงานที่ว่า ภาคการผลิตของสหรัฐหดตัวลงติดต่อกันเดือนที่ 2 โดยเอสแอนด์พี โกลบอลเปิดเผย ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือนธ.ค.ของสหรัฐลดลงสู่ระดับ 46.2 จากระดับ 47.7 ในเดือนพ.ย.

ทั้งนี้ ดัชนีอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 บ่งชี้ว่าภาคการผลิตของสหรัฐยังคงอยู่ในภาวะหดตัว โดยได้รับผลกระทบจากการร่วงลงของคำสั่งซื้อใหม่ และการจ้างงานชะลอตัวลง

นักลงทุนจับตารายงานการประชุมนโยบายการเงินประจำเดือนธ.ค.ของเฟดในวันพุธที่ 4 ม.ค.ตามเวลาสหรัฐ หรือตรงกับช่วงเช้าตรู่ของวันพฤหัสบดีที่ 5 ม.ค. นอกจากนี้ยังจับตาตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐประจำเดือนธ.ค.ในวันศุกร์

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 ม.ค. 66)

Tags: , , ,
Back to Top