ไทยผลักดันความร่วมมือด้านการศึกษาอาเซียน-รัสเซีย

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านการศึกษาอาเซียน-รัสเซีย พ.ศ. 2565-2569 (ASEAN-Russian Federation Plan of Action on Education 2022-2026) แผนปฏิบัติการนี้ จัดทำขึ้นโดยคณะทำงานด้านการศึกษาอาเซียน-รัสเซีย เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างอาเซียนกับรัสเซีย โดยมีกลไกการดำเนินกิจกรรมผ่านคณะทำงานด้านการศึกษาอาเซียน-รัสเซีย ซึ่งจะมีการจัดประชุมคณะทำงานครั้งต่อไปในปี 2567 โดยไทยเป็นประธานร่วมกับรัสเซีย

ทั้งนี้ แผนปฏิบัติการด้านการศึกษาอาเซียน-รัสเซีย พ.ศ.2565-2569 มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินงาน ตรวจสอบ และประเมินกิจกรรมที่จะเสริมสร้างความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างอาเซียนกับรัสเซีย โดยจะขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการผ่าน 5 ยุทธศาสตร์ ดังนี้

1. เสริมสร้างและพัฒนากิจกรรมร่วมทางการศึกษา อาทิ 1) แบ่งปันข้อมูลและแนวปฏิบัติที่ดีในการเสริมสร้างศักยภาพในระดับสากล 2) สนับสนุนเครือข่ายระหว่างโรงเรียนประถมและมัธยม สถาบันอาชีวศึกษา และสถาบันอุดมศึกษา เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวิชาการ เป็นต้น

2. เสริมสร้าง พัฒนา และส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างประชาชน และภาควิชาการ อาทิ 1) ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของนักเรียนและนักวิชาการในการประชุมเชิงปฏิบัติการ และงานสัมมนาต่าง ๆ 2) เสริมสร้างศักยภาพในการทำวิจัยให้แก่นักวิจัยผ่านโครงการและเครือข่ายอาเซียน-รัสเซีย เป็นต้น

3. ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน อาทิ 1) จัดตั้งพื้นที่เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางการศึกษาระหว่างองค์กรด้านการศึกษาและภาคธุรกิจ 2)พัฒนาผลลัพธ์จากการศึกษา และการฝึกอบรมให้ตรงต่อความต้องการของตลาดแรงงาน เป็นต้น

4. สร้างเครือข่ายทางการศึกษาเพื่อยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศ อาทิ 1) ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนครู ผู้ช่วย นักเรียน ผู้นำโรงเรียนหรือผู้บริหาร รวมถึงอุปกรณ์การจัดการเรียนการสอนและการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ 2) พัฒนาฐานข้อมูลเพื่อส่งเสริมการแบ่งปันข้อมูล และความร่วมมือระหว่างองค์การด้านการศึกษา เป็นต้น

5. เสริมสร้างยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างอาเซียน-รัสเซีย อาทิ 1) เสริมสร้างหุ้นส่วนความร่วมมือให้มีความเข้มแข็ง และพัฒนาความร่วมมือระหว่างอาเซียน-รัสเซีย ในหัวข้อที่มีความสนใจร่วมกัน 2) ขยายความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เป็นต้น

น.ส.รัชดา กล่าวด้วยว่า ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากแผนปฏิบัติการฉบับนี้ คือ 1) นักเรียนและเยาวชนไทยจะได้รับโอกาสในการพัฒนาด้านวิชาการ ศิลปวัฒนธรรม และทักษะในการใช้ชีวิต 2) เสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาในการพัฒนาการศึกษาและการเรียนรู้ระหว่างกัน และ 3) ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและรัสเซีย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ม.ค. 66)

Tags: , , ,
Back to Top