นักวิเคราะห์มองว่า เงินบาทของไทยมีแนวโน้มที่จะแซงหน้าดอลลาร์สิงคโปร์ขึ้นเป็นสกุลเงินที่ทำผลงานได้ดีที่สุดของเอเชียในปี 2566
นายคริสโตเฟอร์ หว่อง นักวิเคราะห์ด้านปริวรรตเงินตราต่างประเทศจากโอซีบีซี แบงก์ สิงคโปร์กล่าวว่า เงินบาทมีแนวโน้มที่จะได้ปัจจัยหนุนจากการไหลเข้าของนักท่องเที่ยวจีน หลังจากจีนยกเลิกมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 เป็นส่วนใหญ่ในเดือนธ.ค.ปีที่แล้ว ซึ่งปูทางให้ไทยสามารถรับนักท่องเที่ยวขาออกจากจีนได้มากขึ้น นอกจากนี้ การที่จีนเป็นตลาดส่งออกใหญ่ที่สุดของไทยยังเป็นปัจจัยกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจไทยด้วย
นอกจากนี้ คาดว่าเงินบาทจะได้รับแรงหนุนในช่วงต้นปี หากดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ประจำเดือนธ.ค.ของไทยซึ่งจะมีการเปิดเผยในวันพฤหัสบดีนี้ (5 ม.ค.) บ่งชี้ว่าตัวเลขเงินเฟ้อเริ่มดีดตัวขึ้นอีกครั้งตามที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ส่งสัญญาณเมื่อไม่นานมานี้ว่า ธปท.อาจจะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องจนถึงช่วงครึ่งแรกของปี 2566 ซึ่งหากดัชนี CPI ปรับตัวขึ้นอย่างเหนือความคาดหมาย ก็อาจทำให้ตลาดคาดการณ์ว่าธปท.จะใช้วงจรการคุมเข้มนโยบายการเงินยาวนานขึ้น
“เงินบาทจะได้ประโยชน์เช่นเดียวกับสกุลเงินอื่น ๆ ในเอเชีย จากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งฉุดให้ดอลลาร์อ่อนค่าลง เราคาดว่าในปี 2566 เงินบาทจะทำผลงานแซงหน้าสกุลเงินอื่น ๆ ในเอเชียยกเว้นญี่ปุ่น เนื่องจากหลายปัจจัยเช่น จีนเปิดประเทศ, เฟดชะลอขึ้นดอกเบี้ย และดอลลาร์อ่อนค่าลง นอกจากนี้เราคาดว่า การเติบโตของเศรษฐกิจไทยจะได้แรงหนุนจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวขึ้น” นายหว่องกล่าว
นายหว่องยังกล่าวด้วยว่า ดอลลาร์สิงคโปร์เป็นอีกสกุลเงินที่น่าจับตา และเป็นเพียงสกุลเงินเดียวในเอเชียที่แข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์ในปี 2565 ที่ผ่านมา โดยดอลลาร์สิงคโปร์ได้รับแรงหนุนจากการที่ธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS) ใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงินเพื่อรับมือกับเงินเฟ้อ ด้วยวิธีการกำหนดกรอบสกุลเงินดอลลาร์สิงคโปร์ให้สูงขึ้น เมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินที่ประกอบด้วยสกุลเงินของคู่ค้าสำคัญของสิงคโปร์ โดยแตกต่างไปจากธนาคารกลางส่วนใหญ่ที่ใช้อัตราดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาเงินเฟ้อ
ทั้งนี้ มีแนวโน้มว่า MAS จะเดินหน้าใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงินต่อไป เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังคงสูงกว่าระดับ 5% ในเดือนพ.ย. แม้ว่า MAS ใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงินในช่วงที่ผ่านมาก็ตาม
โดยปกติแล้ว MAS จะปรับนโยบายการเงินผ่านการกำหนดกรอบอัตราแลกเปลี่ยน 3 ด้านด้วยกันซึ่งได้แก่ ความชัน (Slope), ค่ากลาง (Mid-Point) และความกว้าง (Width) ของกรอบอัตราแลกเปลี่ยนที่กำหนด (Policy Band) หรือที่เรียกว่า Nominal Effective Exchange Rate (NEER)
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ม.ค. 66)
Tags: คริสโตเฟอร์ หว่อง, ค่าเงินบาท, ดอลลาร์สิงคโปร์, เงินบาท