รัฐประหารแก้ทุจริตไม่ได้ แนะใช้หลักเศรษฐศาสตร์สาธารณะ 8 ประการ

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ นักเศรษฐศาสตร์ และ อดีตอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการเกี่ยวกับการส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร) กล่าวว่า กรณีการทุจริตคอร์รัปชั่นซื้อขายตำแหน่งและการโกงเงินงบประมาณที่กรมอุทยานฯ ก็ดี กรณีตู่ห้าวก็ดี กรณีฮั้วประมูลโครงการรถไฟฟ้าและการเอื้อเอกชนในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานก็ดี กรณีเรือรบหลวงสุโขทัยจมทะเลก็ดี ล้วนสะท้อนปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นที่หยั่งรากลึกในสังคมระบบราชการและระบบการเมือง รวมทั้งความด้อยประสิทธิภาพ สะท้อนความสูญเปล่าและความเสียหายของเงินภาษีประชาชนจำนวนมาก สะท้อนการกดทับเอาเปรียบข้าราชการชั้นผู้น้อยและระดับกลางอย่างรุนแรง การไม่ใส่ใจต่อความปลอดภัยในชีวิตของทหารระดับปฏิบัติการ สะท้อนการขาดจิตสำนึกสาธารณะอย่างหนักหนาสาหัส

ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นทำให้คนจน คนชั้นกลาง ได้รับความเดือดร้อนมากกว่าคนชั้นสูงหรือผู้มีฐานะร่ำรวยหรือข้าราชการระดับสูง ทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความยากจนและการกระจายรายได้รุนแรงขึ้น เกิดภาระทางงบประมาณจำนวนมาก และอาจนำไปสู่ปัญหาวิกฤติทางการคลังได้ในอนาคต กลไกทางการเมืองที่ไม่ดี ระบบราชการที่ไม่โปร่งใสและไม่มีประสิทธิภาพจะนำไปสู่การขาดดุลงบประมาณอย่างต่อเนื่อง กรณีของไทย เราใช้งบประมาณขาดดุลมาร่วม 17 ปีแล้ว และหนี้สาธารณะต่อจีดีพีได้ทะลุเพดาน 60% ไปแล้ว

การทุจริตคอร์รัปชั่นหลายกรณีที่เกิดขึ้นในยุครัฐบาล คสช. รวมทั้งกรณีล่าสุดที่กรมอุทยานฯ นั้นเป็นทั้งการฉ้อราษฎร์และเป็นทั้งการบังหลวง เป็นการเก็บภาษีสังคมเพิ่มเติมจากภาษีที่เก็บโดยกระทรวงการคลัง ทำให้ต้นทุนในการทำธุรกรรมของประชาชน ของภาคธุรกิจและตัวข้าราชการชั้นผู้น้อยสูงขึ้น หลายกรณีถือว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมอย่างมาก สร้างความเสียหายไม่เพียงแค่ทรัพย์สินเงินทอง แต่หมายถึงชีวิตของบุคคลและสร้างปัญหาต่อสถาบันครอบครัวอีกด้วย

นอกจากนี้การทุจริตคอร์รัปชั่นฉ้อราษฎร์บังหลวงยังกีดกันการแข่งขันในภาคธุรกิจ มีการผลักภาระต้นทุนให้ผู้บริโภคทำให้ระบบตลาดไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ การทำลายระบบคุณธรรมในการบริหารงานบุคคลด้วยการซื้อขายตำแหน่ง ทำให้คนดีมีความรู้ความสามารถขาดโอกาสความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่ทางราชการ ทำให้ประเทศชาติ ประชาชนเสียประโยชน์ ผู้ที่ใช้เงินซื้อตำแหน่งพอขึ้นมามีอำนาจก็จะใช้ตำแหน่งหน้าที่ในการถอนทุนคืน ภารกิจหลักเป็นเรื่องการฉ้อราษฎร์บังหลวง ไม่ใช่การทำงานให้ประเทศและประชาชน

การกระทำเหล่านี้ยังบั่นทอนความสามารถในการบริหารงานของรัฐ เส้นทางการพัฒนาประเทศ โครงการลงทุนขนาดใหญ่โดยรัฐและเป้าหมายต่างๆของประเทศก็ถูกบิดเบี้ยวไปตามผลประโยชน์ส่วนตน

หลายเหตุการณ์ทุจริตที่เกิดขึ้นต่อเนื่องในหลายปีที่ผ่านมาและเกิดขึ้นล่าสุดเป็นสิ่งยืนยันว่า การรัฐประหาร รัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจและสืบทอดอำนาจไม่สามารถแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นได้ การกล่าวอ้างในการยึดอำนาจว่าจะมาปรามปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นจึงเป็นคำพูดหลอกลวงประชาชน เป็นข้ออ้างเพื่อทำลายระบอบประชาธิปไตยและฉีกรัฐธรรมนูญเท่านั้นเอง การมีการเลือกตั้งทั่วไปแล้วได้รัฐบาลใหม่ก็ยังไม่มีหลักประกันใดๆว่า ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นจะเบาบางลงเนื่องจากการแข่งขันกันเพื่อให้ชนะเลือกตั้งยังคงใช้วิถีธนาธิปไตย หรือ Money Politics แบบเดิมๆ

ความจริงแล้ว พรรคการเมืองเป็นองค์ประกอบสำคัญของกระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะในการปกครองในระบอบประชาธิปไตย พรรคการเมืองจึงต้องทำหน้าที่ในการรวบรวมความคิดเห็นจากประชาชนและจัดทำชุดนโยบายสาธารณะในนามพรรคการเมือง (Party Policy Platform) รัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2540 และ พ.ศ.2550 ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวมากกว่ารัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2560 แต่สิ่งที่พรรคการเมืองหลายพรรคทำกัน คือ การแข่งขันกันซื้อ ส.ส.ให้เข้ามาอยู่ในสังกัดให้มากที่สุด ไม่ได้แสดงบทบาทของพรรคการเมืองแบบในประเทศพัฒนาแล้ว หากจะกล่าวโทษพรรคการเมืองหรือนักการเมือง นักเลือกตั้งเสียทั้งหมดก็ไม่ได้ เพราะการเกิดการรัฐประหารสองครั้งในรอบ 16-17 ปีที่ผ่านมาเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาความเป็นสถาบันของพรรคการเมือง การขาดความต่อเนื่องของประชาธิปไตยและบทบาทของพรรคการเมืองทำให้ข้อเสนอนโยบายของพรรคการเมืองไม่หลุดไปจากวังวนของนโยบายเชิงอุปถัมภ์และนโยบายประชานิยมที่มีลักษณะละเมิดต่อกรอบการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่ดีและทำให้ฐานะการเงินการคลังของประเทศสั่นคลอนได้ในอนาคต แนวนโยบายจะเน้นการอุดหนุนเรื่องปากท้องและการให้สวัสดิการตามระบอบอุปถัมภ์ เกิดความสัมพันธ์ด้านกลับ (Reverse Relationship) ระหว่างระบอบประชาธิปไตยกับการกำหนดนโยบายของพรรคการเมืองในลักษณะอุปถัมภ์และอุดหนุนระยะสั้น

เมื่อใกล้เลือกตั้ง รัฐบาลที่อยู่ในอำนาจก็มีแนวโน้มการใช้จ่ายมากเพื่อรักษาคะแนนนิยมโดยไม่สนใจต้นทุนทางการคลังว่าคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์หรือไม่ ยิ่งหากมีการทุจริตคอร์รัปชันเพื่อหาเงินไปใช้จ่ายเลือกตั้งหรือซื้อ ส.ส. ให้มาอยู่ในสังกัดมากที่สุดก็จะยิ่งทำให้การขาดดุลสูงกว่าปรกติ การมีนโยบายในลักษณะดังกล่าวมากๆ จะส่งผลต่อฐานะการเงินการคลังของประเทศและส่งผลกระทบต่อคุณภาพของระบอบประชาธิปไตยระยะยาว

นายอนุสรณ์ กล่าวว่า เมื่อพรรคการเมืองได้ผ่านการเลือกตั้งอย่างต่อเนื่องไม่สะดุดลงจากการรัฐประหารอีก การพัฒนากระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะจะทำให้พรรคสามารถสร้างและขยายฐานคะแนนเสียงของตนเองได้และสาขาพรรคก็จะพัฒนาตามมาเมื่อพรรคการเมืองได้รับการสนับสนุนจากประชาชน จะเป็นพัฒนาการความเป็นสถาบันของพรรคการเมืองที่มีความยั่งยืนมากกว่าเดิม ความเป็น “ธนาธิปไตย” ของการเมืองไทย หรือ Money Politics น่าจะลดลง และเราจะได้ระบบการเมืองที่มีความโปร่งใสและมีคุณภาพดีขึ้น เป็นปัจจัยสำคัญในการทำให้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันทั้งระบบปรับตัวในทิศทางดีขึ้น

ระดับความเป็นตัวแทนเชิงนโยบายของพรรคการเมืองไทยยังอยู่ในระดับต่ำมาก พรรคการเมืองส่วนใหญ่มุ่งเน้นอย่างไรให้ชนะการเลือกตั้งและเป็นรัฐบาลโดยไม่สนใจสัญญาประชาคมที่ทำไว้ในระหว่างรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง กรณีการปรามปรามการทุจริตคอร์รัปชัน การปราบปรามการค้ายาเสพติดและธุรกิจผิดกฎหมาย การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตามเป้าหมายไม่สามารถในการดำเนินการตามนโยบายที่หาเสียงในปี พ.ศ.2562 ฉะนั้น นโยบายหาเสียงที่เป็นสัญญาประชาคมในปี พ.ศ.2566 ประชาชนต้องพิจารณาดูว่าสามารถทำตามที่ประกาศเอาไว้ได้หรือไม่

นายอนุสรณ์ กล่าวว่า เราไม่สามารถมองปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นว่าเป็นผลมาจากการขาดจริยธรรม การขาดจิตสำนึกรับผิดชอบและการเห็นแก่ตัวอย่างรุนแรงเท่านั้น ในทางเศรษฐศาสตร์แล้ว มองว่า มนุษย์ทุกคนมีผลประโยชน์ส่วนตนทั้งสิ้น มีกิเลส มีแรงจูงใจและมีโอกาสที่จะทำชั่วได้ ผู้ที่มีแรงต้านทานต่อความโลภต่ำ ก็มีแนวโน้มจะทำทุจริตคอร์รัปชันได้มากกว่าคนที่มีแรงต้านทานสูง แต่ไม่ได้หมายความว่า คนมีแรงต้านทานต่อความโลภสูงจะไม่ทำผิด การปฏิรูประบบค่าจ้างค่าตอบแทนให้กับข้าราชการมีความจำเป็นต่อการลดแรงจูงใจในการคอร์รัปชัน การลดอำนาจเจ้าหน้าที่ของรัฐและผ่อนคลายกฎระเบียบที่ไม่จำเป็นจะช่วยลดปัญหาการติดสินบนคอร์รัปชันได้ระดับหนึ่ง ประชาชนอาจมีแรงจูงใจร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ของรัฐหาประโยชน์จากโครงการประกันราคาพืชผลเกษตร หรือ โครงการสวัสดิการก็ได้ ฉะนั้นต้องลดแรงจูงใจพวกนี้ด้วย นอกจากนี้ต้องทำกระบวนการยุติธรรมเข้มแข็งไม่เลือกปฏิบัติ ทุกคนเสมอภาคกันภายใต้กฎหมาย ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย ส่งเสริมวัฒนธรรมที่ไม่ยอมรับความร่ำรวยจากการทุจริต

สำหรับการแก้ไขหรือลดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นด้วยหลักเศรษฐศาสตร์สาธารณะนั้นมีดังนี้

ประการแรก ต้องกระจายอำนาจการปกครองไปสู่ท้องถิ่น ชุมชนให้มากที่สุด และทำให้กระบวนการเข้าสู่อำนาจทางการเมืองทั้งในระดับชาติ ระดับท้องถิ่นใช้เงินน้อยลง ใช้ความรู้ความสามารถ ใช้นโยบายมากขึ้น ทำให้การเลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่งในระบบราชการใช้ระบบคุณธรรม

ประการที่สอง ผ่อนคลายกฎระเบียบและยกเลิกกฎเกณฑ์ที่ไม่จำเป็นอันอาศัยการใช้อำนาจดุลพินิจเจ้าหน้าที่ของรัฐในระดับต่างๆ ลดขั้นตอนต่างๆในระบบราชาการในการให้บริการประชาชนและภาคธุรกิจ ทำให้ระบบราชการต้องเปิดเผยข้อมูลต่อประชาชน เป็น Open Government และทำให้ประชาชนและสื่อมวลชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้

ประการที่สาม เปิดเสรีทางเศรษฐกิจ ทั้งการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ ลดภาษีศุลกากรทำให้ สินค้าและบริการเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรี

ประการที่สี่ ปฏิรูประบบการประเมินผลของระบบราชการทั้งหมดให้น่าเชื่อถือ โดยเฉพาะระบบประเมินของ กพ. กพร. สคร. และ ป.ป.ช. ให้มีประสิทธิภาพและคุณภาพสูงขึ้น ไม่ให้เกิดกรณีอย่างกรมอุทยานแห่งชาติ ได้คะแนนป้องกันทุจริตเต็ม 100 และได้ผลประเมินดัชนีการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินกิจการภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment-ITA) ระดับ A ติดต่อกันเป็นเวลา 4 ปี ทั้งที่มีปัญหาทุจริตซื้อขายตำแหน่งและโกงงบประมาณแผ่นดิน

ประการที่ห้า ส่งเสริมเสรีภาพในการรวมกลุ่มของประชาชน คุ้มครองสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน ส่งเสริมการรวมกลุ่มของผู้ใช้แรงงานเพื่อให้เกิดประชาธิปไตยในสถานประกอบการผ่านการรับรองอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ILO 87 และ 98

ประการที่หก พัฒนาระบบราชการ และข้าราชการให้มีคุณภาพและคุณธรรม พร้อมปฏิรูประบบค่าตอบแทนให้เหมาะสมต่อการดำรงชีพ และ ลดการจ้างงานแบบเหมาช่วงและพนักงานรายปีในระบบราชการ

ประการที่เจ็ด ปฏิรูปสถาบันองค์ป้องกันการทุจริตให้มีความเป็นกลางและเป็นอิสระ และควรมีที่มาจากประชาชน

ประการที่แปด ผู้นำทางการเมือง ผู้บริหารในระดับกระทรวง ระดับกรมและระดับหน่วยงาน ต้องทำตัวให้เป็นแบบอย่างในด้านความซื่อตรงและโปร่งใส

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 ม.ค. 66)

Tags: , ,
Back to Top