อินโดนีเซียปรับลดการส่งออกน้ำมันปาล์มเพื่อรักษาซัพพลายในประเทศ

อินโดนีเซีย ผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดของโลก เตรียมปรับลดการส่งออกน้ำมันปาล์มไปยังต่างประเทศ เนื่องจากทำการคุมเข้มนโยบายเพื่อรักษาซัพพลายในประเทศให้มากขึ้น

บูดี ซานโตโซ ผู้อำนวยการใหญ่ด้านการค้าระหว่างประเทศของกระทรวงการค้าอินโดนีเซียเปิดเผยว่า อินโดนีเซียจะปรับลดปริมาณน้ำมันปาล์มที่ผู้ผลิตสามารถส่งออกได้ให้เหลือเพียง 6 เท่าของเกณฑ์การขายในประเทศ จากในปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ 8 เท่า โดยการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. เป็นต้นไป

นโยบายดังกล่าวที่เรียกกันว่าเป็นเงื่อนไขการจำหน่ายน้ำมันปาล์มภายในประเทศตามที่รัฐบาลกำหนด (DMO) นั้น กำหนดให้ผู้ส่งออกน้ำมันปาล์มต้องขายน้ำมันปาล์มของตัวเองให้ตลาดในประเทศจำนวนหนึ่งก่อนจะได้รับอนุญาตให้ส่งออกได้ โดยมีผลบังคับใช้ในช่วงปลายพ.ค.ที่ผ่านมาหลังจากยกเลิกคำสั่งห้ามส่งออกน้ำมันปาล์ม ความเคลื่อนไหวดังกล่าวสร้างแรงสั่นสะเทือนต่อตลาดโลก เนื่องจากทำให้เกิดความกังวลว่าภาวะราคาอาหารเฟ้อจะรุนแรงขึ้น

เฟอร์มาน ฮิดายัต เจ้าหน้าที่กระทรวงประสานงานด้านกิจการทางทะเลและการลงทุน เปิดเผยว่า รัฐบาลอินโดนีเซียต้องการทำให้แน่ใจว่ามีซัพพลายในประเทศเพียงพอในช่วงเดือนรอมฎอนและวันอีดิลฟิฏร์ (ฮารีรายอ) ในเดือนเม.ย. เนื่องจากการผลิตจะลดลงตามฤดูกาลในช่วงไตรมาสแรกของปี

นอกจากนี้ นายฮิดายัตกล่าวว่า “เราไม่ต้องการให้ซัพพลายในประเทศลดลงและเสี่ยงที่ราคาจะพุ่งสูงขึ้น” โดยอินโดนีเซียยังจะกำหนดข้อบังคับการผสมไบโอดีเซลให้สูงขึ้นในปี 2566 ซึ่งจะเพิ่มการใช้น้ำมันปาล์มในประเทศด้วย

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวส่งผลให้ราคาส่งออกน้ำมันปาล์มในกรุงกัวลาลัมเปอร์พุ่งสูงขึ้น ซึ่งเป็นเจ้าภาพการทำสัญญาน้ำมันปาล์มล่วงหน้าเกณฑ์มาตรฐานของโลก โดยเหตุการณ์นี้น่าจะกระตุ้นให้มาเลเซีย ผู้ส่งออกอันดับ 2 ของโลก เพิ่มการส่งออก โดยสัญญาล่วงหน้าราคาขึ้นถึง 2.5% แตะระดับ 4,193 ริงกิต (950 ดอลลาร์) ต่อตัน ใกล้แตะระดับสูงสุดในรอบเดือน

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 ธ.ค. 65)

Tags: , ,
Back to Top