นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ (28 ธ.ค.) ได้พบกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งได้กำชับให้ดูแลเรื่องหาบเร่แผงลอยให้เข้มงวด เป็นระเบียบเรียบร้อย รวมทั้งดูแลผู้มีรายได้น้อยควบคู่กันไป ซึ่งในช่วงที่มีแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หาบเร่-แผงลอย มีจำนวนลดลงเนื่องจากไม่มีนักท่องเที่ยว และการ Work from Home แต่พอสถานการณ์คลี่คลายเริ่มเปิดเมือง นักท่องเที่ยวเริ่มกลับมา เศรษฐกิจกลับคืนมา จะเห็นว่าหาบเร่-แผงลอย กลับมาเพิ่มจำนวนอีกครั้ง
ทั้งนี้ กทม.มีนโยบายให้ความสำคัญกับทางเท้าเป็นอันดับต้น โดยมีจุดผ่อนผันแล้ว 95 จุด จึงได้กำชับเจ้าหน้าที่ว่าต้องดูแลให้เข้มข้น ส่วนพื้นที่นอกจุดผ่อนผันก็มีการกำกับดูแลไม่ให้มีความสกปรกรกรุงรัง โดยได้นำเทคโนโลยี CCTV มาช่วย นำไปติดตั้งจุดที่มีปัญหาหรือจุดที่หาบเร่-แผงลอยรุกล้ำ แทนการนำบุคลากรมายืนกำกับดูแล เพราะทำให้สิ้นเปลืองบุคลากรจำนวนมาก เมื่อเห็นการละเมิดผ่านจอมอนิเตอร์ ก็ส่งเจ้าหน้าที่ลงไปจัดการในพื้นที่ภายใน 20 นาที
“การนำเทคโนโลยีมาใช้นี้ เป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้ดูแลหาบเร่แผงลอยได้ดีขึ้น และต่อไปจะขยายการติดตั้ง CCTV ให้ครอบคลุมพื้นที่มากขึ้นด้วย นอกจากนี้ ในเขตที่ผ่อนผันแล้ว ทุกร้านจะมี QR Code บันทึกข้อมูลผู้ค้า เพื่อให้ กทม.สามารถกำกับดูแลผ่าน QR Code ได้” นายชัชชาติ ระบุ
ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ขณะนี้มีการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยไปแล้วหลายพื้นที่ ได้แก่ บริเวณทางเท้าถนนข้าวสาร หน้าอาคารโรเล็กซ์ (ถนนวิทยุ) หน้าห้างสรรพสินค้าบิ๊กซีบางนา ฯลฯ โดยได้รับความร่วมมือจากเอกชนในพื้นที่ ปรับรูปแบบให้ดีมีฉากกั้น มีร่ม/เต็นท์ในรูปแบบเดียวกัน เพื่อให้มีระเบียบเรียบร้อย มีการเตรียมโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมรองรับพื้นที่การค้าหาบเร่-แผงลอย เช่น บริเวณซอยสังคโลก และตอนนี้กวดขันถนนสายหลัก 9 เส้น เพื่อนำร่องเพิ่มประสิทธิภาพการจัดระเบียบให้เข้มข้น ได้แก่ โบ๊เบ๊, สะพานควาย-จตุจักร, ห้าแยกลาดพร้าว, รัชดา-ห้วยขวาง, วัดมังกร, ราชประสงค์-เพชรบุรี, เพลินจิต-ทองหล่อ, สาทร-สีลม-พระราม 4 และแยกคลองเตย
“เป็นเรื่องของปากท้องประชาชน เพราะหลายคนก็ลำบากจริงๆ ซึ่งการอยู่ในเมือง เขาไม่มีทรัพยากรอื่น บางคนอาจจะต้องอาศัยการทำมาหากินบนพื้นที่สาธารณะเพื่อดูแลครอบครัว ดูแลลูก เราจึงต้องทำควบคู่ไป ความจริงแล้วมันไม่ยาก ถ้าเราจะกวาดทุกคน แต่สุดท้ายแล้วก็จะไปกระทบชีวิตคนที่รายได้น้อยที่ยังต้องอยู่ในเมืองนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเราเช่นกัน ฉะนั้นก็ต้องทำใน 2 มิติ คือความเข้าใจจิตใจเพื่อนร่วมเมือง และความเป็นระเบียบเรียบร้อยของเมือง โดยให้ความสำคัญในเรื่องความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อยของเมือง รวมถึงคนเดินเท้ามาเป็นอันดับหนึ่ง” นายชัชชาติ กล่าว
ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ต้องขอความร่วมมือ เราเข้าใจว่าสภาพเศรษฐกิจ ทำให้ลำบากสำหรับประชาชนบางกลุ่ม แต่ความเป็นระเบียบเรียบร้อยก็ต้องมาด้วยกัน ต้องไม่ให้กระทบกับการจราจร รวมถึงประชาชนคนเดินเท้าส่วนใหญ่ การมาขายของบนที่สาธารณะไม่ใช่สิทธิ เพราะที่สาธารณะเป็นของประชาชนทุกคน ดังนั้นต้องอยู่ด้วยกันและหาจุดที่สมดุล โดยให้ความเป็นระเบียบเรียบร้อยมาอันดับแรก ส่วนการดูแลพี่น้องที่ยากลำบาก ถ้าพอดูแลได้โดยไม่กระทบสิทธิคนอื่น เราก็พยายามจะให้อยู่ด้วยกันได้
ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า อนาคตที่ห่วงคือการขายของบนถนนโดยใช้รถพ่วงข้าง หรือจอด Food Truck นอกพื้นที่ที่กำหนด ซึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องดูแล เพราะตามกฎหมายห้ามขายของบนถนน ส่วนปัญหาที่ต่อเนื่องคือรถแท็กซี่/สามล้อจอด โดยมีคนเก็บหัวคิวเพื่อให้จอดได้ เอาเปรียบนักท่องเที่ยว คิดราคาแพง ไม่กดมิเตอร์
“ได้มีการหารือร่วมกับตำรวจแล้ว วันนี้ก็จะปูพรมแถวหน้าเซ็นทรัลเวิลด์ แพลตทินัม ฝั่งตรงข้ามบิ๊กซี อนาคตสุขุมวิทตลอดสาย เพราะมีแท็กซี่/สามล้อจอดช่วงกลางคืนเยอะ ก็จะกำกับดูแลร่วมกับตำรวจ เพื่อไม่ให้มีการเก็บหัวคิววิน และให้นักท่องเที่ยวได้รับการดูแลที่ดีขึ้น” นายชัชชาติ กล่าว
สำหรับปัญหาเรื่องส่วยนั้น จริงๆ แล้วเป็นค่าปรับและค่าธรรมเนียม หากอยู่ในเขตผ่อนผันจะเป็นค่าธรรมเนียมรายปี ส่วนการจับปรับก็ปรับตามกฎหมาย ตามหลักก็จะได้รางวัลนำจับ 50% ที่เหลือส่งเข้าภาครัฐ นี่คือสิ่งที่เป็นไปตามกฎหมาย ส่วนส่วยที่จัดเก็บนอกเหนือจากนี้เราไม่มีนโยบาย ถ้ามีการกระทำผิด ไล่ออกอย่างเดียว
“เรื่องทุจริตเปรียบเสมือนเชื้อเล็กๆ ที่อาจกลายเป็นบาดทะยักได้ ถ้าเราละเลยกับการรีดไถหรือส่วยแม้เพียงเล็กน้อย สุดท้ายมันก็จะลามเป็นการทุจริตระดับใหญ่ได้ เพราะฉะนั้น หากประชาชนมีการโดนรีดไถก็ให้แจ้งมาทาง Traffy Fondue ซึ่งเรามีช่องทางในการแจ้งทุจริต ถ้ามีข้อมูลให้แจ้งมา เราเอาจริงเอาจังเรื่องนี้อย่างแน่นอน” นายชัชชาติ กล่าว
ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ต่อไปจะนำเทคโนโลยีมาใช้งานเทศกิจให้มากขึ้น เช่น การนำ CCTV มาช่วยในการควบคุมดูแล การทำ QR Code ฐานข้อมูล การพัฒนาศักยภาพเทศกิจด้านต่างๆ เช่น ภาษาต่างประเทศ การร่วมมือกับหน่วยงานอื่น และอนาคตจะมีการโอนถ่ายงานเรื่องการจับปรับรถที่จอดผิดกฎหมายให้ กทม.ดูแล ดังนั้นหลักการคือจะต้องโปร่งใส มีประสิทธิภาพ เทศกิจมีความรู้หลากหลาย มีเทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อนำไปสู่เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคนต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 ธ.ค. 65)
Tags: CCTV, ชัชชาติ สิทธิพันธุ์, เทศกิจ