น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายองค์กรสัมพันธ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะโฆษก ธปท. เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนพ.ย.65 ยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัว โดยมีแรงส่งจากภาคบริการที่ฟื้นตัวต่อเนื่องตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น และเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ปรับดีขึ้น หลังผลกระทบจากปัจจัยชั่วคราวในเดือนก่อนหมดลง สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวจากรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลาง อย่างไรก็ตาม มูลค่าการส่งออกสินค้าปรับลดลงตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัว สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรม และเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ปรับลดลง
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากเดือนก่อน ตามอัตราเงินเฟ้อหมวดอาหารสดเป็นสำคัญ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ด้านตลาดแรงงานโดยรวมทยอยฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลจากดุลการค้าที่เกินดุลลดลงเป็นสำคัญ ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุลใกล้เคียงกับเดือนก่อน
สำหรับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในหลายสัญชาติ โดยเฉพาะยุโรป และสหรัฐฯ เป็นผลต่อเนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ ส่งผลให้กิจกรรมในภาคบริการ โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวปรับดีขึ้นต่อเนื่อง
เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในทุกหมวด โดยการใช้จ่ายหมวดสินค้าไม่คงทนปรับเพิ่มขึ้นหลังสถานการณ์น้ำท่วมในเดือนก่อนคลี่คลายลง ขณะที่การใช้จ่ายหมวดบริการฟื้นตัวต่อเนื่องตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อภาคครัวเรือนยังคงทยอยปรับดีขึ้น โดยเฉพาะการจ้างงาน และความเชื่อมั่นผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม ค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูงยังเป็นปัจจัยกดดันการบริโภคในภาพรวม
การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนขยายตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน จากรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางตามการเบิกจ่ายโครงการด้านคมนาคมและชลประทาน ขณะที่รายจ่ายประจำหดตัวเล็กน้อยตามการเบิกจ่ายของหน่วยงานด้านการศึกษา ซึ่งได้เร่งเบิกจ่ายไปมากแล้วในช่วงก่อนหน้า สำหรับรายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจ หดตัวตามการเบิกจ่ายของโครงการด้านสาธารณูปโภค เนื่องจากเกิดความล่าช้าในการนำเข้าอุปกรณ์บางประเภท
มูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อนในหลายหมวด ตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ชะลอลง โดยเฉพาะหมวดโลหะและสินค้าเกษตร รวมถึงหมวดผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่ลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ประกอบกับในเดือนนี้ยังมีการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นน้ำมันต่อเนื่องจากเดือนก่อน อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าบางหมวดเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน อาทิ หมวดยานยนต์และชิ้นส่วน และหมวดอิเล็กทรอนิกส์ การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อน โดยเฉพาะหมวดปิโตรเลียมที่ลดลงจากการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นต่อเนื่องจากเดือนก่อน และหมวดฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ที่ลดลงตามการชะลอตัวของอุปสงค์ประเทศคู่ค้า อย่างไรก็ดี การผลิตบางหมวดเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน อาทิ หมวดเคมีภัณฑ์ และหมวดยานยนต์
เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อน โดยการลงทุนหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ลดลง สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรม ขณะที่การลงทุนหมวดก่อสร้างทรงตัว โดยยอดขายวัสดุก่อสร้างเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่วนหนึ่งได้รับผลดีจากการซ่อมแซมสิ่งปลูกสร้างหลังสถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลาย ขณะที่พื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างลดลงเล็กน้อย
มูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้ว ปรับเพิ่มขึ้นจากการนำเข้าน้ำมันดิบเป็นสำคัญ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการกลับมาผลิตปิโตรเลียมหลังการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นน้ำมันแล้วเสร็จ อย่างไรก็ตาม การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคลดลงตามการนำเข้าโทรศัพท์มือถือที่เร่งไปแล้วในช่วงก่อนหน้า
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงตามอัตราเงินเฟ้อหมวดอาหารสด จากราคาผักที่ลดลงตามผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมากขึ้นหลังสถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลาย ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนเล็กน้อยตามราคาอาหารสำเร็จรูป อุปกรณ์ซักล้างทำความสะอาด และของใช้ส่วนตัว ด้านตลาดแรงงานโดยรวมทยอยฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งความเชื่อมั่นของผู้ประกอบอาชีพอิสระที่เป็นบวกต่อเนื่อง
สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัด ขาดดุลจากดุลการค้าที่เกินดุลลดลง ตามมูลค่าการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุลใกล้เคียงกับเดือนก่อน
ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐเฉลี่ยแข็งค่าขึ้น ตามการคาดการณ์ของตลาดที่คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในอัตราที่ชะลอลง ประกอบกับตลาดมีมุมมองที่ดีต่อการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวไทย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 ธ.ค. 65)
Tags: ชญาวดี ชัยอนันต์, ท่องเที่ยว, ธนาคารแห่งประเทศไทย, ธปท., เศรษฐกิจไทย