อินฟลูเอนเซอร์กลายเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ยอดนิยมในการทำการตลาดออนไลน์ และกระแสความนิยมก็ยังไม่มีท่าทีว่าจะน้อยลง Media Talk จะพาผู้อ่านไปส่องแนวโน้มการตลาดอินฟลูเซอร์ปี 66 กับคุณณพัชร รัตนถาวรกิติ ซีอีโอ และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท Bubblely เจ้าของ Buddy Review แพลตฟอร์มด้านอินฟลูเอนเซอร์ชั้นนำ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการทำการตลาดในปีกระต่ายกัน
คุณณพัชรกล่าวถึงสถานการณ์อินฟลูเอนเซอร์ไทยในปัจจุบันว่า “ตลาดอินฟลูเอนเซอร์กำลังคึกคักอย่างมาก หลายแบรนด์เริ่มหันมาลองใช้กันเยอะมากขึ้น รวมถึงแบรนด์ที่เคยใช้อยู่ก็แบ่งงบโฆษณามาใช้กับอินฟลูเอนเซอร์เพิ่มขึ้น หากมองในภาพกว้าง ผมคิดว่า แม้ว่าจะผ่านมา 3-4 ปีแล้วก็ตาม อินฟลูเอนเซอร์ก็ยังคงอยู่ในเฟสเริ่มต้น (Early Stage) เท่านั้น และจะยังสามารถเติบโตขึ้นได้อีก ในอนาคตก็จะยิ่งมีการใช้อินฟลูเอนเซอร์ในรูปแบบและช่องทางที่หลากหลายมากขึ้นด้วย”
เนื่องจากความพร้อมของเทคโนโลยีที่สามารถเชื่อมผู้คนเข้าหากัน อินฟลูเอนเซอร์จึงได้รับความนิยมในการเป็นช่องทางทำการตลาดมากยิ่งขึ้น คุณณพัชรมองว่า การทำตลาดผ่านอินฟลูเอนเซอร์เป็นการตลาดแบบปากต่อปาก หรือเป็นความเชื่อถือของผู้คนที่บอกต่อสินค้าซึ่งกันและกัน เพียงแค่ก่อนหน้านี้เทคโนโลยียังไปไม่ถึง จึงสามารถบอกกันได้ในมุมแคบ ๆ และไม่สามารถให้คนเพียงคนเดียวกระจายข้อมูลจำนวนมากได้ หรือถ้าจะทำอาจต้องใช้ทุนมหาศาล แบรนด์จึงต้องหันไปใช้สื่ออื่นหรือใช้ดาราที่มีชื่อเสียงเป็นคนมาพูดแทน
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน โซเชียลมีเดียได้เชื่อมผู้คนเข้าหากันหมดแล้ว ดังนั้น อินฟลูเอนเซอร์จึงเป็นอีกทางเลือกของการทำตลาดที่โน้มน้าวผู้บริโภคได้เป็นจำนวนมาก และมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องในปี 2566
การเติบโตของอินฟลูเอนเซอร์ตัวเล็กเป็นอีกหนึ่งแนวโน้มที่ได้รับการคาดการณ์ในกลุ่มนักการตลาดว่าจะมาแรง คุณณพัชรแสดงความเห็นว่า จะมีการใช้อินฟลูเอนเซอร์ตัวเล็กที่มีความใกล้ชิดและมีความสัมพันธ์กับผู้บริโภคมากขึ้น เช่น อินฟลูเอนเซอร์ระดับไมโคร (Micro) ที่มีผู้ติดตามระหว่าง 10,000-100,000 คน หรืออินฟลูเอนเซอร์ระดับนาโน (Nano) ที่มีผู้ติดตามน้อยกว่า 10,000 คน หรือแม้แต่การรีวิวของลูกค้า (Customer Review)
ส่วนเหตุผลที่ทำให้อินฟลูเอนเซอร์ตัวเล็กเป็นที่ต้องการมากขึ้น คุณณพัชรมองว่า แบรนด์จะหันมาเลือกใช้อินฟลูเอนเซอร์ตัวเล็กที่สามารถสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาและเป็นธรรมชาติ โดยระบุว่า “ยิ่งอินฟลูเอนเซอร์ตัวเล็กเท่าไร ความเรียลก็จะเพิ่มขึ้นเท่านั้น ประโยชน์ของอินฟลูเอนเซอร์ตัวเล็กคือความผูกพันของผู้ติดตาม ไม่ใช่จำนวนการมองเห็น (Reach) อีกต่อไป แต่เน้นไปที่การโน้มน้าวหรือสร้างความเชื่อถือที่มีต่อผลิตภัณฑ์หรือแบรนด์มากกว่า”
อีกทั้ง รูปแบบคอนเทนต์ที่ใช้ในการทำตลาดอาจจะมีความเนียนและเป็นธรรมชาติมากขึ้น มองออกว่าเป็นโฆษณายากมากขึ้น โดยอินฟลูเอนเซอร์จะไม่ทำการตลาดกันอย่างโจ่งแจ้งแบบที่ผ่านมา หรือมุ่งเน้นขายของจนเกินไป
สำหรับแนวโน้มสุดท้ายสำหรับการทำการตลาดกับอินฟลูเอนเซอร์ คงหนีไม่พ้นกระแสวิดีโอสั้น (Short-Form Video) ที่มาแรงรับอานิสงค์ความโด่งดังของติ๊กต็อก คุณณพัชรแสดงความเห็นว่า การทำคอนเทนต์ลักษณะวิดีโอสั้น เป็นอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในแวดวงอินฟลูเอนเซอร์ในปัจจุบัน เพราะกระแสของอินฟลูเอนเซอร์นั้นไหลไปตามกระแสการเล่นโซเชียลมีเดียของผู้คนในช่วงเวลานั้น ๆ ซึ่งตอนนี้คงหนีไม่พ้นกระแสคลิปวิดีโอสั้น ดังนั้น อินฟลูเอนเซอร์จึงพยายามหันมาทำแนววิดีโอสั้นกันมากขึ้นในทุกแพลตฟอร์ม
นอกจากนี้ คุณณพัชรทิ้งท้ายว่า ไม่เพียงแค่รูปแบบคอนเทนต์ที่สำคัญ แต่กุญแจหลักสำหรับคอนเทนต์อินฟลูเอนเซอร์ไทย คือ ความสนุก เนื่องจากคนไทยชอบเสพคอนเทนต์บันเทิงสนุกสนานที่ทำให้พวกเขามีความสุขโดยไม่ต้องรู้สึกกดดันให้ซื้อสินค้า ดังนั้น การทำการตลาดอินฟลูเอนเซอร์จึงต้องคำนึงถึงความบันเทิงและความสนุกเป็นอันดับหนึ่ง เพื่อสร้างความประทับใจที่ดีและมอบประสบการณ์แก่ผู้บริโภคระหว่างเส้นทางการซื้อ (Customer journey) เช่นกัน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 ธ.ค. 65)
Tags: Bubblely, Media Talk, SCOOP, ณพัชร รัตนถาวรกิติ, สื่อ, อินฟลูเอ็นเซอร์