กางแผนพลังงานปี 66 ผลักดันไทยสู่ Net Zero

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน พร้อมด้วยคณะผู้บริหารสังกัดกระทรวงพลังงาน แถลงแผนการดำเนินงานของกระทรวงพลังงาน ปี 2566 โดยระบุว่า ได้วางแผนงานและโครงการแบ่งเป็น 4 มิติ ประกอบด้วย

 

– มิติที่ 1 พลังงานสร้างความมั่นคงสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดยแผนพลังงานชาติ และแผนพลังงานรายสาขาใหม่ เน้นการส่งเสริมพลังงานสะอาด ตามเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2065 มีแผนการลงทุน Grid Modernization ของประเทศฉบับแรก ปลดล็อค ปรับปรุงกฎ กติกา เพื่อส่งเสริมการซื้อขายไฟฟ้าสะอาดเชิงพื้นที่ ส่งเสริมการลงทุนรถ EV และสถานีอัดประจุไฟฟ้า รวมทั้งศึกษาศักยภาพ กำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS)

 

– มิติที่ 2 พลังงานเสริมสร้างเศรษฐกิจ ด้วยการจัดหาก๊าซธรรมชาติจากแหล่งในประเทศ และประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าการนำเข้า Spot LNG เร่งพัฒนาเครื่องมือทางการเงินเพื่อส่งเสริมพลังงานทดแทน และการอนุรักษ์พลังงาน พร้อมกันนี้ยังส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคาสำหรับหน่วยงานของรัฐ การบังคับใช้เกณฑ์ด้านพลังงานสำหรับการออกแบบอาคารสร้างใหม่ (BEC) เป็นต้น

ทั้งนี้ การลงทุนทางด้านพลังงานในประเทศในปี 66 คาดว่าจะเกิดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจในมิตินี้กว่า 230,000 ล้านบาท

 

– มิติที่ 3 พลังงานลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยส่งเสริมการลงทุนโรงไฟฟ้าชีวมวล/ก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงานเพื่อชุมชนและเศรษฐกิจฐานราก โดยเร่งการลงทุน 200 เมกะวัตต์ คาดว่าจะมีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจรวม 20 ปีประมาณ 37,700 ล้านบาท และยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 630,737 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี ในมิตินี้ยังมีการพัฒนาระบบไฟฟ้าสำหรับพื้นที่เกาะ และพื้นที่ห่างไกล และที่สำคัญก็คือมาตรการการช่วยเหลือด้านพลังงานแบบเฉพาะให้กับกลุ่มเปราะบาง เช่น ส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือช่วยเหลือค่าไฟฟ้าแก่ผู้มีรายได้น้อย

 

– มิติที่ 4 การพัฒนาองค์กรเพื่อให้บริการ โดยเผยแพร่ข้อมูลด้านพลังงานรูปแบบ Interactive Dashboard แสดงข้อมูลเชิงลึกด้านพลังงานผ่านการประมวลผลรูปแบบที่เข้าใจง่าย เพื่อใช้สื่อสารให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้อย่างสะดวก รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพด้านดิจิทัลในการดำเนินงานด้านพลังงาน

 

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า ทิศทางของนโยบายพลังงานในปี 66 ยังต้องติดตามสถานการณ์พลังงานอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเรื่องการบริหารจัดการพลังงานให้มีความต่อเนื่อง เพื่อให้มีปริมาณเพียงพอกับที่คาดการณ์ว่าแนวโน้มความต้องการใช้พลังงานจะเพิ่มขึ้น กระทรวงพลังงานต้องปรับบทบาทองค์กรก้าวสู่ยุคเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) นอกจากจะต้องสร้างความมั่นคงด้านพลังงานแล้ว ยังต้องเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายและการดำเนินการหลายด้าน เพื่อขับเคลื่อนประเทศเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ทั้งการส่งเสริมการผลิตพลังงานสะอาดให้เป็นไปตามเป้าหมาย การปรับตัวเพื่อรองรับและส่งเสริมการผลิตและการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) พร้อมๆ ไปกับติดตามและบริหารจัดการสถานการณ์ราคาพลังงาน เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนและผู้ประกอบการ รวมทั้งสร้างพันธมิตรและร่วมมือกับทุกภาคส่วนขับเคลื่อนการพัฒนา เพื่อให้เกิดการลงทุนธุรกิจพลังงานใหม่ๆ ตามเป้าหมาย

“ในปี 66 สภาพัฒน์คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 3 – 4% จากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว การบริโภค การลงทุน และการผลิตภาคเกษตร สถานการณ์กำลังปรับตัวไปในทิศทางที่เป็นบวก แต่เรายังเผชิญปัจจัยที่มีความไม่แน่นอนด้านพลังงาน และกระแสการลดโลกร้อนกำลังทวีความสำคัญ เพราะฉะนั้น การพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานสะอาด จะเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินนโยบายด้านพลังงาน เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานอย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการดูแลผลกระทบจากสถานการณ์ราคาพลังงานที่ผันผวนต่อเนื่องให้แก่ประชาชนทุกกลุ่มอย่างทั่วถึง”

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว

 

ขณะที่นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ในปี 65 กระทรวงพลังงานได้ดำเนินมาตรการหลายด้าน ประกอบด้วย

– ด้านลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน โดยช่วยลดภาระค่า Ft ให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 500 หน่วย รักษาระดับราคาขายปลีกดีเซล และยังคงตรึงราคาขายก๊าซ LPG ไว้ภายหลังจากทยอยปรับขึ้นให้ใกล้เคียงราคาตลาดที่แท้จริง โดยมีการช่วยเหลือผ่านกลุ่มร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหาร และผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยมูลค่าการช่วยเหลือทางด้านพลังงานในปี 2565 รวมทั้งสิ้นกว่า 232,800 ล้านบาท

ที่ผ่านมา กระทรวงพลังงานได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการบริหารจัดการรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงาน เพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบด้านราคาน้อยที่สุดจากความผันผวนของราคาพลังงานในตลาดโลก โดยแนวทางในการบริหารจัดการพลังงานหากเกิดสถานการณ์วิกฤตราคาพลังงานในปี 66 จะเน้นดำเนินการใน 3 ด้าน ได้แก่

1) การปรับเปลี่ยนเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้า จากเดิมที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นการใช้เชื้อเพลิงอื่นที่มีราคาต่ำก่าการนำเข้า Spot LNG เช่น น้ำมันดีเซล นำมันเตา ถ่านหินจากแหล่งแม่เมาะ การใช้ไฟฟ้าพลังน้ำที่นำเข้าจาก สปป. ลาว

2) การลดความต้องการใช้ก๊าซในประแทศ ด้วยการลดรับซื้อไฟฟ้าจากกลุ่มผู้ผลิตประเภท SPP รวมถึงขอความร่วมมือประหยัดพลังงานในภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม

3) การเพิ่มการจัดหาก๊าซธรรมชาติ ทั้งจากแหล่งในประเทศ และประเทศเพื่อนบ้าน และการนำก๊าซจากอ่าวไทยเข้าสู่การผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นโดยการเพิ่มก๊าซฯ Bypass และลดการใช้ในภาคอุตสาหกรรม

 

– ด้านสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ได้จัดทำแผนพลังงานชาติ และแผนย่อยรายสาขา เพื่อมุ่งสู่การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์สุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2050 เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาพลังงานของไทยรองรับสู่การเปลี่ยนผ่านพลังงาน โดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่มาใช้ ตลอดจนการบริหารจัดการการเปลี่ยนผ่านการดำเนินงานแหล่งก๊าซเอราวัณ และแหล่งบงกช การเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบ 24 ในประเทศ จัดทำโรดแมประบบเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS) เพื่อให้ไทยบรรลุเป้าหมายมุ่งสู่การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

 

– ด้านส่งเสริมการลงทุนและกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยส่งเสริมทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ไฟฟ้า โครงการพลังงานทดแทนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก และโครงการอื่นๆ รวมมูลค่าการลงทุนกว่า 260,000 ล้านบาท

 

– ด้านส่งเสริมพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ทั้งการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ การรับซื้อไฟฟ้าจากขยะ การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน การส่งเสริมสนับสนุนสถานีอัดประจุไฟฟ้าเพื่อรองรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ปัจจุบันมี 869 สถานีทั่วประเทศ การประหยัดพลังงานหน่วยงานรัฐ ตลอดจนด้านการอำนวยความสะดวกในการให้บริการแก่ประชาชน อาทิ ปรับปรุงการขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้า กิจการก๊าซปิโตรเลียมเหลว ก๊าซธรรมชาติ การพัฒนาด้านการให้บริการแบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-service) เพื่ออำนวยความสะอาด ลดระยะเวลา และค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้ผู้รับบริการ

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 ธ.ค. 65)

Tags: , , , ,
Back to Top