อดีตประธานาธิบดี Donald Trump ซึ่งถือว่าเป็นนักด่า Bitcoin และ Cryptocurrency ตัวยงมาตลอด ปรากฎว่าล่าสุดได้ Trump ได้ออก NFT ชื่อ Donald Trump Digital Trading Card โดยเปิดราคาขายอยู่ที่ 99 ดอลลาร์ และเมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 48 ชั่วโมง ราคา NFT ดังกล่าวก็พุ่งสูงไปกว่า 700% ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวที่ไม่ว่าจะเป็น Trump ที่เคยต่อต้าน Bitcoin และ Cryptocurrency กลับมาสนใจ NFT และราคาของ NFT ที่พุ่งสูงอย่างมากจะถูกมองว่าเป็นเรื่องที่ดีไม่มากก็น้อย แต่ก็มิวายต้องมีเรื่องให้ดราม่าเพราะมีคนตาดีเห็นว่าภาพที่ Trump เอามาใช้ทำ NFT นั้นยังปรากฏลายน้ำ (Watermark) อยู่หลายจุด เช่นลายน้ำของ Shutterstock และ Adobe หรือพูดง่าย ๆ คือ Trump เอารูปจากตลาดซื้อขายภาพออนไลน์มาใช้แบบ ฟรี ฟรี โดยไม่เสียเงินค่าลิขสิทธิ์นั่นเอง ซึ่งมีผู้ประเมินว่าหากทั้งสองค่ายเรียกร้องค่าเสียหายจากกรณีดังกล่าวแล้ว Trump อาจจะต้องเสียค่าเสียหายเป็นเงินมากกว่า 4 ล้านดอลลาร์หรือกว่า 140 ล้านบาทเลยทีเดียว
ซึ่งโดยปกติตามกฎหมายแล้วรูปภาพบนโลกออนไลน์จะสามารถก๊อปปี้ หรือคัดลอกกันได้ง่าย ๆ แต่อย่างไรก็ตามรูปภาพต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่มีลิขสิทธิ์ซึ่งเป็นทรัพย์สินทางปัญญาชนิดหนึ่ง ที่จะได้รับความคุ้มครองทันทีโดยไม่ต้องไปจดทะเบียนใด ๆ นับตั้งแต่วินาทีที่เจ้าของภาพสร้างสรรค์ภาพนั้น ๆ ขึ้นมา เจ้าของผลงานเพียงผู้เดียวเท่านั้นที่จะสามารถทำสำเนา คัดลอก ดัดแปลงหรือหาประโยชน์ได้ เว้นแต่เจ้าของผลงานนั้น ๆ จะได้อนุญาตให้ผู้อื่นใช้ภายใต้เงื่อนไขต่าง ๆ เช่น การห้ามใช้เพื่อการพาณิชย์ เป็นต้น
ด้วยข้อจำกัดดังกล่าวทำให้เกิดตลาดซื้อขายภาพออนไลน์ขึ้น หรือ การที่จะให้ผู้ใช้งานภาพได้จ่ายค่าลิขสิทธิ์แก่เจ้าของภาพเพื่อนำภาพนั้น ๆ ไปใช้ ซึ่งโดยปกติการซื้อภาพจากตลาดขายภาพออนไลน์นั้นจะแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ Rights-Managed คือการจ่ายเฉพาะครั้งที่ใช้ กล่าวคือ เอาไปใช้ได้ครั้งเดียว จะใช้ใหม่ต้องไปจ่ายเงินใหม่ และอีกประเภทหนึ่งคือ Royalty-Free ซึ่งจ่ายเงินครั้งเดียว สามารถนำภาพนั้น ๆ ไปใช้ได้เรื่อย ๆ หรือเรียกง่าย ๆ ว่าเป็นการเหมาจ่ายนั้นเอง แต่อย่างไรก็ตามแม้ผู้ใช้งานจะได้จ่ายเงินเพื่อใช้ภาพนั้น ๆ แล้วก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ใช้งานจะเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ของภาพนั้น ๆ จึงต้องตรวจสอบเงื่อนไขการใช้ภาพแต่ละกรณี ๆ ไป ซึ่งตามกฎหมายไทยนั้นความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์จะมีความผิดทั้งจำคุกและปรับ
ดังนั้นแล้วผู้ที่ต้องการจะสร้างสรรค์หรือขาย NFT นอกจากจะต้องทำความเข้าใจเรื่องเทคโนโลยีเบื้องหลังแล้วยังต้องพิจารณาข้อกฎหมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างมากเกี่ยวกับการออก NFT ที่เกี่ยวข้องกับงานออกแบบต่าง ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงข้อพิพาทหรือความผิดตามกฎหมายทั้งของประเทศไทยและของต่างประเทศ
นายปรุงศักดิ์ เชาวน์ชาติ
ทนายความหุ้นส่วนบริหาร กลุ่มสำนักงานกฎหมายอเบอร์
อนุญาโตตุลาการผู้เชี่ยวชาญด้านสินทรัพย์ดิจิทัล ประจำสถาบันอนุญาโตตุลาการ (THAC)
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 ธ.ค. 65)
Tags: bitcoin, Cryptocurrency, Decrypto, Donald Trump, NFT, Trump NFT, คริปโทเคอร์เรนซี, ปรุงศักดิ์ เชาวน์ชาติ