นายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาการเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยถึง แผนปฏิบัติการเร่งด่วนกำหนดการเผาอ้อยในฤดูการผลิตปี 2565/2566 เป็น 0% ตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” พ.ศ. 2562 -2567 ว่า หลังจากอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเริ่มเดินหน้าเปิดหีบอ้อยฤดูการผลิต 2565/2566 ในโรงงานน้ำตาลทรายทั่วประเทศ 57 โรง ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2565 ต่อเนื่องถึงช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2566 ล่าสุดพบว่าระหว่างที่ 1-21 ธันวาคม 2565 มีการลักลอบเผาอ้อยก่อนตัดส่งเข้าหีบโรงงานน้ำตาลมากถึง 2.3 ล้านตัน คิดเป็น 25.70% จากปริมาณอ้อยเข้าหีบรวม 9.09 ล้านตัน
ปริมาณอ้อยที่ถูกลักลอบเผาในฤดูการผลิต 2564/2565 พบว่า 5 จังหวัดที่มีการเผามากที่สุด ได้แก่ นครราชสีมา 3.532 ล้านตัน อุดรธานี 2.649 ล้านตัน กาฬสินธุ์ 2.359 ล้านตัน ขอนแก่น 1.952 ล้านตัน และเพชรบูรณ์ 1.950 ล้านตัน และสำหรับ 5 จังหวัดที่สามารถบริหารจัดการควบคุมการลักลอบเผาได้ดีที่สุด คือ จังหวัดสุโขทัย 0.059 ล้านตัน อุตรดิตถ์ 0.064 ล้านตัน ราชบุรี 0.070 ล้านตัน ประจวบคีรีขันธ์ 0.073 ล้านตัน และพิษณุโลก 0.078 ล้านตัน
ทั้งนี้ จากข้อมูลของ สอน. ในการนำอ้อยเข้าหีบฤดูการผลิต 2564/2565 พบว่า กลุ่มโรงงานที่มีการรับอ้อยถูกเผาเข้าหีบสูงสุด คือ โรงงานในกลุ่มบริษัทมิตรผล 5.36 ล้านตัน กลุ่มบริษัทไทยรุ่งเรือง 3.86 ล้านตัน กลุ่มบริษัทน้ำตาลขอนแก่น 2.27 ล้านตัน ตามลำดับ ส่งผลให้เกิดควันไฟที่ทำให้เกิดฝุ่นพิษ PM 2.5 ขยายเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะในทั่วพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง รวมถึงพื้นที่มีประชาชนอาศัยอยู่หนาแน่น และพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญในหลายจังหวัดและกรุงเทพมหานคร (ประมาณการณ์อ้อยที่ถูกลับลอบเผา 10 ล้านตัน เสมือนกับการ เผาป่า 1 ล้านไร่)
โดยคาดการณ์ฤดูหีบอ้อยปี 2565/2566 จะมีปริมาณอ้อยสูงถึง 106 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2564/2565 ซึ่งอยู่ที่ 92.07 ล้านตัน หากการลักลอบเผาอ้อยไม่ลดลง เท่ากับว่าปีนี้สภาพมลพิษทางอากาศที่เกิดจากการหีบอ้อยในฤดูท่องเที่ยวเทศกาลตั้งแต่ก่อนปีใหม่จนถึงหลังสงกรานต์ จะวิกฤตกว่าปีที่แล้วเป็นอย่างมาก อีกทั้งประเทศไทยยังคงเผชิญกับปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งปัจจุบันมีผลงานวิจัยหลายชิ้นในหลายประเทศค้นพบความเชื่อมโยงกันว่า เมื่อประชาชนหายใจสูดฝุ่นพิษ PM 2.5 ที่เข้มข้น จะส่งผลให้ภูมิต้านทานอ่อนแอลง โรคโควิด-19 ระบาดได้ง่ายขึ้น ผู้ติดเชื้อมีอาการรุนแรง และนำไปสู่อัตราการเสียชีวิตที่สูงขึ้น
“นอกจากส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนกว่า 60 ล้านคนแล้ว การเผาอ้อยยังส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้กลับมาฟื้นตัว ล่าสุด รัฐบาลตั้งเป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2566 ไว้ที่ 20 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีนี้ซึ่งทะลุ 10 ล้านคนแล้ว ณ เวลานี้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย จึงต้องไม่เป็นภาระต่อสังคมเศรษฐกิจ ทำลายบรรยากาศในการดึงดูดการท่องเที่ยว ทำให้สภาพอากาศของไทยแย่ลงในช่วงไฮซีซั่นหลายเดือนจากนี้” รักษาการเลขาธิการ สอน.ระบุ
นายภานุวัฒน์ กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ที่ผ่านมา ได้มีการหารือในมาตรการจัดการลักลอบเผาอ้อยก่อนส่งเข้าหีบโรงงานน้ำตาลอย่างจริงจัง แต่พบว่ายังไม่ได้รับความร่วมมือเท่าที่ควร เพราะเพียง 21 วันที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า มีการลักลอบเผาอ้อยไปแล้วมากถึง 2.3 ล้านตัน ดังนั้น หลังจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมจะยกระดับการบูรณาการร่วมกับกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย สอน. จะแจ้งข้อมูลจุดที่มีการลับลอบเผาอ้อยซ้ำซาก เพื่อให้หน่วยงานปกครองสามารถป้องปรามการลักลอบเผา และเร่งดับไฟได้ทันท่วงที รวมทั้งขอร่วมมือกับโรงงานน้ำตาล เพื่อหามาตรการสนับสนุนการไม่รับอ้อยที่ถูกเผาเข้าหีบฤดูการผลิตนี้
สำหรับสถิติการลักลอบเผาอ้อยอันเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งของการเกิดฝุ่นพิษ PM 2.5 ในช่วง 3 ปีการผลิตที่ผ่านมา พบว่า ปี 2562/2563 มีอ้อยที่ถูกลักลอบเผา 37.18 ล้านตัน ปี 2563/2564 มีอ้อยที่ถูกลักลอบเผา 17.61 ล้านตัน และปี 2564/2565 มีอ้อยที่ถูกลักลอบเผา 25.12 ล้านตัน ขณะที่ฤดูกาลผลิตใหม่ปี 2565/2566 คาดการณ์ปริมาณอ้อยรวมจะสูงถึง 106 ล้านตัน หากโรงงานน้ำตาล ชาวไร่อ้อย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ร่วมมือกันอย่างจริงจัง ผลกระทบฝุ่นพิษ PM 2.5 ที่จะเกิดกับภาคเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพพี่น้องคนไทยกว่า 60 ล้านคน จะแย่กว่า 3 ปีที่ผ่านมาอย่างแน่นอน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ธ.ค. 65)
Tags: PM2.5, ภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี, มลพิษทางอากาศ, เผาอ้อย