จีนเตรียมบังคับใช้กฎระเบียบเกี่ยวกับดีปเฟก (Deepfake) เป็นครั้งแรกในเดือนม.ค.ปีหน้า โดยเป็นการยกระดับการควบคุมเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ต
ทั้งนี้ Deepfake มาจากคำว่า Deep Learning + Fake หมายถึงการให้คอมพิวเตอร์ใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ Machine Learning เรียนรู้อัตลักษณ์อย่างลึกซึ้งของบุคคลที่ตกเป็นเป้าหมาย เช่น เสียง ใบหน้า สีผิว รูปร่าง ท่าทางการเคลื่อนไหวของริมฝีปาก และร่างกายส่วนอื่น โดยให้มีการประมวลผลออกมาตามคำสั่งที่ถูกป้อนเข้าไป ทำให้ระบบสามารถสร้างภาพเคลื่อนไหวของบุคคลดังกล่าวอย่างสมจริง จนแทบไม่สามารถแยกได้ว่าภาพในคลิปวิดีโอเป็น AI หรือเป็นมนุษย์จริงๆ หรือพูดให้เข้าใจง่ายก็คือ Deepfake คือการสร้างคลิปวิดีโอปลอมผ่านการตัดต่อ โดยคนในคลิปไม่ได้พูดหรือทำจริงอย่างที่เห็นในคลิป จนสร้างความสับสนให้กับผู้รับชม
จีนประกาศเรื่องการควบคุมเทคโนโลยี Deepfake ตั้งแต่ช่วงต้นปีนี้ และเพิ่งสรุปผลได้ในเดือนนี้ โดยจะเริ่มบังคับใช้กฎเกณฑ์ดังกล่าวในวันที่ 10 ม.ค. โดยกฎระเบียบใหม่ที่ว่านี้ได้รวมถึง ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตต้องให้การอนุญาตหากรูปภาพของพวกเขาถูกนำไปใช้ในเทคโนโลยี Deepfake ห้ามนำเทคโนโลยี Deepfake ไปใช้เพื่อเผยแพร่ข่าวปลอม และบริการ Deepfake ต้องตรวจสอบตัวตนที่แท้จริงของผู้ใช้งาน
นับตั้งแต่สิ้นปี 2563 จีนพยายามควบคุมบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ของประเทศ โดยได้ออกกฎระเบียบมากมายในหลายภาคส่วน ตั้งแต่การต่อต้านการผูกขาดไปจนถึงการปกป้องข้อมูล แต่ในขณะเดียวกันจีนก็พยายามที่จะกำกับดูแลเทคโนโลยีใหม่ ๆ ด้วย โดยบังคับใช้กฎเกณฑ์ด้านเทคโนโลยีที่เข้มงวดกว่าประเทศอื่น ๆ
สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า เมื่อต้นปีนี้ จีนเพิ่งออกกฎเกณฑ์ควบคุมการแนะนำอัลกอริทึมของบริษัทเทคโนโลยี โดยนักวิเคราะห์ชี้ว่า รัฐบาลจีนมี 2 เป้าหมาย คือ คุมเข้มการเซ็นเซอร์บนโลกออนไลน์ และออกกฎระเบียบให้ล้ำหน้าเทคโนโลยีใหม่ ๆ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ธ.ค. 65)
Tags: Deepfake, จีน, เทคโนโลยี