ปิดจ็อบส่งท้ายปีกับ บมจ.เคที เมดิคอล เซอร์วิส (KTMS) กวาดยอดขายหุ้น IPO เกลี้ยง 76.64 ล้านหุ้น ประกาศเดินหน้าเข้าเทรดในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) วันที่ 23 ธันวาคมนี้
KTMS ประกอบธุรกิจการให้บริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (Hemodialysis) ทั้งในรูปแบบคลินิกเวชกรรมเฉพาะทางไตเทียม (StandAlone) และหน่วยไตเทียมในโรงพยาบาล (Outsource) ปัจจุบันมีเครื่องไตเทียมรวมจำนวน 254 เครื่อง มีหน่วยไตเทียมจำนวน 20 สาขา ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ
นางสาวกาญจนา พงศ์พัฒนะเดชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร KTMS เปิดเผยกับ “อินโฟเควสท์” ว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุเกือบ 20% ของประชากรทั้งประเทศ ทำให้ผู้ป่วยโรคไตเพิ่มมากขึ้น และอีกส่วนหนึ่งคือผู้ป่วยโรคเรื้อรังอย่างเบาหวาน และความดัน ก็มีโอกาสเกิดอาการไตวายตามมา
ณ ปัจจุบันมีผู้ป่วยที่ต้องฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมกว่าแสนราย และคาดว่าผู้ป่วยโรคไตจะเพิ่มขึ้นอีกราวปีละ 10-15%
นางสาวกาญจนา กล่าวว่า ธุรกิจที่ทำอยู่เป็นธุรกิจเฉพาะทาง โดดเด่นด้วยความเชี่ยวชาญมาเป็นเวลายาวนาน โดยเฉพาะตนเองเป็นพยาบาลที่อยู่ในธุรกิจนี้มากว่า 15 ปี รวมถึงยังมีบริษัท บริษัท เออร์วิง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (IRV) ที่ให้บริการติดตั้งระบบน้ำสำหรับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมโดยเฉพาะมามากกว่า 20 ปี จึงสามารถให้บริการได้ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ
“เราสามารถให้บริการออกแบบตกแต่งหน่วยไตเทียม ผลิตน้ำยาไตเทียม ติดตั้งระบบน้ำสำหรับฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ให้บริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ติดตั้งระบบน้ำเสียหลังจากฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม นี่คือจุดเด่นของ KTMS เรื่อง One Stop Services” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าว
นางสาวกาญจนา กล่าวอีกว่า คู่แข่งในตลาดก็มี แต่ไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับ KTMS เพราะการให้บริการแบบครบวงจร KTMS น่าจะเป็นเจ้าเดียวที่สามารถทำได้ และยังเป็นบริษัทเดียวในธุรกิจนี้ที่กำลังจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
- โครงการลงทุนในสถานพยาบาลฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม จำนวน 155 ล้านบาท
- โครงการลงทุนในโรงงานผลิตน้ำยาไตเทียมและศูนย์บริการวิศวกรรมจำนวน 61 ล้านบาท
- ใช้เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน 10.01 ล้านบาท
นางสาวกาญจนา กล่าวว่า ในปี 66 บริษัทเตรียมขยายสาขาเพิ่มอีก 14 สาขาทั่วประเทศ แบ่งเป็น Stand Alone 6 สาขา และ Outsource 8 สาขา และเงินระดมทุนอีกส่วนหนึ่งใช้เพื่อลงทุนโรงงานผลิตน้ำยาไตเทียมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งจะทำให้มีกำลังผลิตมากถึง 2 ล้านแกลลอนต่อปี จากปัจจุบัน 9 แสนแกลลอนต่อปี จากโรงงานที่กรุงเทพเพียงแห่งเดียว
“ช่วงที่ผ่านมา เรามีรายได้เฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี (CAGR) ที่ 30.73% ซึ่งจากแผนขยายสาขาของเรา ก็จะทำให้เราเติบโตแบบก้าวกระโดด ส่วนราคา IPO ที่ 3.10 บาทต่อหุ้น คิดเป็น P/E ที่ประมาณ 37.29 เท่า ถือว่าเหมาะสม เพราะเรามีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางและให้บริการครบวงจร รวมถึงแนวโน้มของผู้ป่วยก็มีเพิ่มมากขึ้น อีกอย่างคือการสนับสนุนของภาครัฐ อาทิ สปสช. ก็ช่วยให้ธุรกิจของเรามีรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืน” นางสาวกาญจนา กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ธ.ค. 65)
Tags: IPOInsight, KTMS, กาญจนา พงศ์พัฒนะเดชา, หุ้นไทย, เคที เมดิคอล เซอร์วิส