นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้รับมอบหมายจากนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 10/2565 โดยระบุว่า ขณะนี้เริ่มมีรายงานพบผู้ป่วยโรคโปลิโอ ซึ่งทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนปวกเปียกเฉียบพลันในหลายประเทศ หลังจากไม่พบผู้ป่วยโรคนี้มาเป็นระยะเวลานานหลายปี ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขกำลังจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังลำดับที่ 21 ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558
ทั้งนี้ มีรายงานพบผู้ป่วยโปลิโอสายพันธุ์ธรรมชาติ 30 ราย ในประเทศปากีสถาน อัฟกานิสถาน และโมซัมบิก และผู้ป่วยโปลิโอสายพันธุ์วัคซีนกลายพันธุ์ 577 ราย ใน 22 ประเทศ รวมถึงอินโดนีเซีย ที่พบผู้ป่วย 4 ราย ทำให้ประเทศไทยต้องเร่งรัดการดำเนินงานเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือ แม้ว่าไทยจะไม่มีผู้ป่วยโรคโปลิโอมานานกว่า 25 ปีแล้ว โดยรายสุดท้ายคือในปี 2540
โดยที่ประชุมวันนี้ ได้มีการพิจารณา และเห็นชอบ 3 เรื่อง ดังนี้
1. ข้อเสนอมาตรการเร่งรัดการดำเนินงานเพื่อเตรียมความพร้อมของประเทศไทย เมื่อมีความเสี่ยงจากการระบาดของโรคโปลิโอในต่างประเทศ ให้ทุกจังหวัดเร่งรัดความครอบคลุมการได้รับวัคซีนในเด็ก ประชาสัมพันธ์ฉีดกระตุ้น ประเมินความเสี่ยง ซักซ้อมแผน รณรงค์การให้วัคซีนเสริมในพื้นที่เสี่ยง และผลักดันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดหาวัคซีน ดำเนินการจัดหาวัคซีน IPV
2. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการกวาดล้างโรคโปลิโอ การกำจัดโรคหัด และหัดเยอรมัน ระดับชาติ เพื่อให้การดำเนินงานกวาดล้างโปลิโอของไทยมีความเข้มแข็ง รวมถึงการกำจัดโรคหัดและหัดเยอรมัน และต้องมีการขับเคลื่อนมาตรการอย่างต่อเนื่อง
3. เห็นชอบการยกเว้นการเรียกเก็บค่าใช้จ่าย ในการออกหนังสือรับรองการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค กรณีโรคโควิด-19 ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-31 ธ.ค. 66
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบการสรุปผลการดำเนินงานด้านวัคซีนโควิด-19 และผลการประชุมคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค โดยประเทศไทยฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้ว 145.3 ล้านโดส รับวัคซีนแล้วอย่างน้อย 1 เข็ม จำนวน 57.5 ล้านคน คิดเป็น 82.6% ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ 53.9 ล้านคน คิดเป็น 77.6% และฉีดเข็มกระตุ้น 33.8 ล้านโดส ให้บริการฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (LAAB) ให้กับประชาชนกว่า 1.9 หมื่นคน ส่วนในเด็กอายุ 6 เดือน-4 ปี รับวัคซีนแล้ว 49,000 คน
ขณะที่ องค์การอนามัยโลก (WHO) และที่ประชุมคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 65 มีคำแนะนำให้กลุ่มเป้าหมายที่ต้องรับวัคซีนเข็มกระตุ้น เข้ารับวัคซีนตามระยะเวลาที่กำหนด โดยใช้วัคซีนที่มีในปัจจุบัน ซึ่งยังมีประโยชน์ในการป้องกันและลดความรุนแรงของโรค สามารถใช้กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี สู้กับสายพันธุ์ที่ระบาด คือ โอมิครอน BA.5 และ BA.2.75 ได้ ไม่จำเป็นต้องรอวัคซีน mRNA bivalent เพราะเวลานี้สถานการณ์ระบาดเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ได้ย้ำให้สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัด จัดตั้งหน่วยฉีดวัคซีนหลักในทุกจังหวัดและทุกอำเภอ (COVID-19 Vaccination Center) ที่ประชาชนเข้าถึงได้สะดวกและทั่วถึง พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบสถานที่ และวันเวลาที่เปิดให้บริการ
นพ.โอภาส กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ขณะนี้ ประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคโควิด-19 เพิ่มขึ้นในหลายจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดท่องเที่ยวที่มีกิจกรรมรวมกลุ่มของนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติจำนวนมาก ประกอบกับไทยเข้าสู่ฤดูหนาว เชื้อไวรัสอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานขึ้น และแพร่เชื้อได้ง่ายขึ้น
ทั้งนี้ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการปอดอักเสบ และใส่ท่อช่วยหายใจเพิ่มขึ้น แต่ยังอยู่ในระดับที่ระบบสาธารณสุขดูแลได้ ส่วนผู้เสียชีวิตเป็นกลุ่ม 608 (ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และสตรีมีครรภ์) ถึง 97% ทั้งหมดเป็นผู้ไม่ได้รับวัคซีน ไม่ได้รับเข็มกระตุ้น หรือได้รับเข็มกระตุ้นนานเกิน 3 เดือน
กระทรวงสาธารณสุข จึงมีนโยบายเร่งรัดรณรงค์ฉีดวัคซีนโควิด 19 ในกลุ่มเสี่ยงอย่างน้อยคนละ 4 เข็ม มีเป้าหมายให้ทุกจังหวัดฉีดวัคซีนรวมกัน 2 ล้านโดส ภายในสิ้นเดือนธ.ค. 65 เพื่อลดการป่วยอาการรุนแรงและเสียชีวิต โดยจัดให้มีหน่วยฉีดวัคซีนทั้งในโรงพยาบาล และออกหน่วยฉีดวัคซีนเชิงรุกนอกโรงพยาบาล
ส่วนกลุ่มที่มีปัญหาเรื่องภูมิคุ้มกันต่ำ หรือได้รับยากดภูมิคุ้มกัน สามารถฉีด LAAB ที่สถานพยาบาลของรัฐใกล้บ้านได้ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ขึ้นทะเบียนเพื่อป้องกันก่อนการติดเชื้อ และใช้เสริมการรักษาในรายที่ติดเชื้อมาไม่นาน
นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า ในปี 65 หลังจากผ่อนคลายมาตรการ ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามามากกว่า 10 ล้านคน แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยม และได้รับความเชื่อมั่นด้านการแพทย์และสาธารณสุข ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ใช้แนวคิด Health for Wealth ช่วยพัฒนาประเทศ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือนโยบาย Medical Hub มุ่งให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมทางการแพทย์ครบวงจร และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ช่วยสร้างรายได้ให้ประเทศอีกทางหนึ่ง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ธ.ค. 65)
Tags: lifestyle, กระทรวงสาธารณสุข, โปลิโอ, โอภาส การย์กวินพงศ์