บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ มองว่าปี 66 กิจกรรมทางเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง เป็นผลพวงจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง ทำให้ความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยในตลาดพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐและยุโรปเพิ่มสูงขึ้น คาดการณ์ว่ามีความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะลดดอกเบี้ยหลังจากอุปสงค์มีแนวโน้มหดตัว ทำให้เงินดอลลาร์มีแนวโน้มอ่อนค่าลง ส่งผลดีกับตลาดเกิดใหม่ อย่างเช่น ตลาดหุ้นไทย คาดว่าจะได้รับอานิสงค์จากกระแสเงินไหลเข้า นอกจากนั้นเศรษฐกิจไทยยังอยู่บนภาพการฟื้นตัวจากการบริโภคภายในประเทศ โดยมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นปัจจัยหนุน รวมถึงความคาดหวังเชิงบวกต่อการเปิดประเทศของจีนในช่วงของไตรมาส 2/66
ดังนั้น อินโนเวสท์ เอกซ์ จึงมีมุมมองอย่างระมัดระวังเกี่ยวกับการเติบโตของเศรษฐกิจและแนวโน้มกำไรในปี 66 รวมถึงความเสี่ยงด้านเสถียรภาพทางการเงินที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น แนะลงทุนหุ้นเด่นไตรมาส 1/66 เน้นกลุ่มรับอานิสงส์จากการเปิดประเทศของจีนและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเป็นหลัก ได้แก่ AOT BBL BCP CPALL และ MINT
นายสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ กล่าวว่า ช่วงเปลี่ยนผ่านของปี 66 เศรษฐกิจโลกจะมีลักษณะ 3 ประการ
ประการแรก การเติบโตของเศรษฐกิจโลกจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ การเติบโตของเศรษฐกิจระหว่างตลาดพัฒนาแล้ว (DM) กับตลาดเกิดใหม่ (EM) จะแตกต่างกัน โดย DM มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะ stagflation รุนแรง หรืออย่างน้อยที่สุดจะเกิดภาวะถดถอยอย่างอ่อนๆ ในขณะที่ EM เศรษฐกิจจะชะลอตัว แต่มีโอกาสถดถอยรุนแรงน้อยกว่า
ประการที่สอง อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐฯ และ EM หลายประเทศ ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วและมีแนวโน้มชะลอตัวลง ในปี 63 อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกจะลดลงจากฐานสูงและอุปสงค์ทั่วโลกลดลงอันเนื่องมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ
ประการที่สาม อัตราดอกเบี้ยนโยบายเชื่อว่าสูงเกินไปเพื่อให้ครอบคลุมอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างร้อนแรง ขณะที่ประเทศในฝั่งเอเชีย รวมถึงไทยจะยังปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง
ดังนั้น ประเมิน SET Index ปี 66 อิงปัจจัยพื้นฐานอยู่ที่ 1,750 จุด จุดเข้าซื้อที่สำคัญอยู่ที่ 1,500-1,600 จุด ซึ่งคาดว่าจะเห็นในไตรมาส 1/66 ขณะที่คาดว่าจีนจะกลับมาเปิดประเทศในไตรมาส 2/66 ตลาดจะตอบรับเชิงบวกต่อการผ่อนคลายนโยบายของจีน เนื่องจากเป็นรายได้หลักของการท่องเที่ยวไทย และจะช่วยกระตุ้นให้เม็ดเงินต่างชาติไหลเข้าสุทธิ
หากมองยูโรโซนจะเข้าสู่ภาวะ Stagflation ในปี หน้า กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะหดตัวลง สาเหตุมาจากวิกฤตพลังงานที่ดำเนินอยู่และนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้น อัตราเงินเฟ้อยังคงสูงกว่าเป้าหมายทั้งในปี 65 และ 66 แรงกดดันเงินเฟ้อแนวโน้มเพิ่มขึ้นสูงกว่าคาด
ส่วนภาพเศรษฐกิจไทยในปี 66 คาดว่าจะชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับปี 65 จากการส่งออก การลงทุน และการใช้จ่ายภาครัฐ ชะลอลง เป็นแรงกดดันหลัก แต่ภาคท่องเที่ยว บริการ และการบริโภคในประเทศจะเป็นปัจจัยสำคัญช่วยสนับสนุนการเติบโต ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกได้
เศรษฐกิจไทยปีหน้าคาดว่าจะเติบโตเร็วที่สุดในไตรมาส 1 โดย GDP จะเติบโตประมาณ 4% และจะชะลอตัวลงอีกในช่วงครึ่งปีหลัง โดยจะเติบโตเกือบ 2% ในไตรมาส 4/66 สาเหตุหลัก 3 ประการ คือ ประการแรก เศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังซึ่งจะส่งผลทำให้การส่งออกปรับตัวลดลง ประการที่สอง ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชนจะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของเศรษฐกิจ แต่แรงขับเคลื่อนอื่นๆ เช่น การลงทุนภาคเอกชน และการใช้จ่ายภาครัฐ ทั้งการบริโภคและการลงทุนจะอ่อนแรง โดยมีสาเหตุมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวและการเบิกจ่ายที่ชะลอตัวของโครงการภาครัฐ
และ ประการสุดท้าย เชื่อว่าภาคการท่องเที่ยวจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจเติบโต โดยที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทยราว 21-25 ล้านคน ส่วนใหญ่จะเป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางระยะใกล้ (short-haul) มากกว่าระยะไกล (long-haul) ซึ่งจะสร้างรายได้ให้กับประเทศน้อยกว่า
กลยุทธ์การลงทุนในแรงกดดันภาวะทางการเงินที่เข้มงวดต่อเนื่องในไตรมาส 1/66 ความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ความเสี่ยงที่กำไรจะชะลอตัวลงและความเสี่ยงด้านเสถียรภาพทางการเงินปรับตัวเพิ่มขึ้นทั่วโลก ดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจแสดงสัญญาณชะลอตัวลงต่อเนื่อง
เมื่อพิจารณาจากความยืดหยุ่นของเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมกับการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงมากขึ้น เราจะเห็นเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องก่อนที่จะทำจุดสูงสุด เศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะปรับตัวลงถึงจุดต่ำสุดอย่างเห็นได้ชัดเจนมากขึ้นภายในปลายไตรมาส 1/66 ถึงต้นไตรมาส 2/66 ดังนั้น เราเล็งเห็นโอกาสในการเพิ่มสถานะโดยเฉพาะกับการเปิดประเทศของจีนและอุปสงค์ในประเทศที่แข็งแกร่ง
แนะนำหุ้นที่มีงบดุลและกระแสเงินสดที่ดี ได้ประโยชน์จากการเปิดประเทศของจีน กำไรมีแนวโน้มเติบโตและฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มเติบโตสูงอย่างชัดเจน โดยหุ้นเด่นในไตรมาส 1/66 คือ AOT BBL BCP CPALL และ MINT
สรุปประเด็นการลงทุนของหุ้นรายตัว
AOT : คาดได้ประโยชน์จากการเปิดประเทศของจีนและการกระตุ้นการท่องเที่ยวของรัฐที่จะช่วยหนุนการเติบโตจากตลาดภายในประเทศ และแนวโน้มกำไรจะฟื้นตัวได้อย่างโดดเด่น
BBL : เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาพการฟื้นตัวต่อเนื่อง และได้ประโยชน์จากการขึ้นดอกเบี้ยที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 1.25% เป็น 2% ในปี 66 นอกจากนั้นมองการอ่อนค่าของค่าเงินดอลลาร์ที่จะส่งผลกับกระแสเงินไหลเข้า ซึ่งกลุ่มธนาคารมีแนวโน้มได้ประโยชน์จากประเด็นนี้
BCP : เรายังมองว่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นจากอุปสงค์ที่คาดว่าเพิ่มขึ้นจากการเปิดประเทศของจีน นอกจากนั้นบริษัทเป็นบริษัทที่มีลักษณะเชิงรับและมีเงินปันผลดีซึ่งสามารถช่วยลดความผันผวนของตลาดได้ดี
CPALL : เรามองการบริโภคในประเทศที่จะมีการเติบโตได้อย่างโดดเด่นและมีแนวโน้มที่ดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่จะช่วยให้ยอดขายฟื้นตัวต่อเนื่อง นอกจากนั้นยังได้ประโยชน์จากช่วงเลือกตั้ง
MINT : เป็นบริษัทที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากการเปิดประเทศของจีน ต้นทุนพลังงานในยุโรปเริ่มมีการปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ธุรกิจอาหารมีแนวโน้มฟื้นตัวโดยได้รับแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ นอกจากนั้นการประเมินมูลค่าหุ้นต่ำกว่ากลุ่มราว 15-20%
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ธ.ค. 65)
Tags: AOT, BBL, BCP, CPALL, MINT, บล.อินโนเวสท์ เอกซ์, สุกิจ อุดมศิริกุล, หุ้นไทย