นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ กล่าวในงาน Hmong Economic Leaders 2022 ว่า ภาวะการส่งออกของไทยในปี 65 คาดว่าจะมีมูลค่าราว 9 ล้านล้านบาท โดยอัตราการเติบโตจะมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น 7% ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 64 ที่มีมูลค่ารวม 8.5 ล้านล้านบาท ส่วนในปี 66 คาดว่าจะมีมูลค่าการส่งออกราว 9.25 ล้านล้านบาท
“การส่งออกที่ผมรับผิดชอบ ปีที่แล้วทำรายได้เข้าประเทศ 8.5 ล้านล้านบาท ปีนี้แนวโน้มเพิ่มเป็น 9 ล้านล้านบาท และปีหน้าจะเพิ่มเป็น 9.25 ล้านล้านบาท ปีนี้แนวโน้มเป็นบวกประมาณ 7% ปีหน้าแม้เศรษฐกิจโลกมีปัญหาแต่ยังเป็นบวก” นายจุรินทร์ กล่าว
นายจุรินทร์ กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไปมาก ทำให้ต้องรู้เท่าทันโลก เท่าทันสถานการณ์โลก ซึ่งสถานการณ์ในปี 66 น่าห่วง เพราะเกิดปัญหาภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว จากปี 64 ที่ขยายตัว 6% ปีนี้มีแนวโน้มขยายตัวได้ 3.2% ส่วนในปี 66 คาดว่าจะขยายตัว 2.7% เนื่องจากมีปัญหาเรื่องสถานการณ์โควิด-19 สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังยืดเยื้อ และภาคการผลิตสำคัญที่ขาดแคลนวัตถุดิบ ทำให้ภาวะเศรษฐกิจไม่สามารถเติบโตได้อย่างที่ต้องการ
“ไทยยังดีเพราะแนวโน้มเศรษฐกิจไทยสวนกระแสโลก ปีนี้เราบวกและปีหน้าคาดการณ์ว่าจะบวกมากกว่าปีนี้ เราต้องลงมือทำ หลายฝ่ายต้องช่วยกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ปีหน้า 1.การส่งออกยังเป็นหัวใจสำคัญ 2.การท่องเที่ยวจะเป็นตัวช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 3.การลงทุนจากต่างประเทศ” นายจุรินทร์ กล่าว
นายจุรินทร์ กล่าวว่า การท่องเที่ยวยังคงมีความสำคัญ ปีนี้นักท่องเที่ยวครบ 10 ล้านคนตามเป้าหมาย ปีหน้าแนวโน้มจะดีขึ้น ทิศทางการท่องเที่ยวจากนี้ คือเร่งดึงนักท่องเที่ยวรายได้สูง และต้องขายซอฟพาวเวอร์จากอาหาร วิถีชีวิต ซึ่งจะเป็นโอกาสสำหรับพี่น้องชาวม้งที่มีอยู่ราว 5 แสนคน กระจายอยู่ใน 14 จังหวัด ซึ่งฐานรากของความเป็นวัฒนธรรมที่เป็นอัตลักษณ์ มีวิถีชีวิต ชุดแต่งกายที่เป็นตัวของตัวเอง ถ่ายทอดรุ่นต่อรุ่น คือซอฟพาวเวอร์ โดยไทยมีซอฟพาวเวอร์ที่เข้มแข็งเป็นลำดับที่ 6 ของเอเชีย รองจากจีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย และสิงคโปร์ ในอาเซียนไทยเป็นที่ 2 รองจากสิงคโปร์
“ไทยมีจุดขายด้านการท่องเที่ยวด้วยการขายซอฟพาวเวอร์ ถ้าทำธุรกิจอย่าลืมซอฟพาวเวอร์ และที่ต้องพัฒนาต่อไปคือท่องเที่ยวชุมชน ทุกชุมชนมีซอฟพาวเวอร์ มีอัตลักษณ์ของความเป็นตัวเอง ชุมชนชาวม้งจะเป็นท่องเที่ยวอีกจุดหนึ่ง รวมตัวในชุมชนขายการท่องเที่ยว” นายจุรินทร์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ภาคการผลิตก็จะมีความสำคัญ นักธุรกิจชาวม้งที่มีพื้นฐานการเกษตร การผลิตทางการเกษตรยุคต่อไปจะเปลี่ยนไปตามบริบทการพัฒนาของโลก จะมีกฎเกณฑ์กติกามากมายที่ต้องตามให้ทัน ที่ผ่านมาประสบความสำเร็จจากเวที RCEP 15 ประเทศ ซึ่งเป็น FTA ที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีจีดีพีรวมกัน 1 ใน 3 ของโลก ต่อไปไทยส่งสินค้าไปขายใน 14 ประเทศภาษีจะเป็นศูนย์ ได้เปรียบกว่าประเทศนอกสมาชิก และจากการประชุมเอเปคที่เพิ่งจบไปกำลังจะพัฒนาเป็น FTA ในอนาคตมี 21 เขตเศรษฐกิจ จีดีพี 2 ใน 3 ของโลก แต่มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือทั้ง RCEP และเอเปค ต่อไปนี้ไม่ว่าจะผลิตสินค้าเกษตร ภาคบริการหรืออื่นๆ ต้องเดินหน้าไปสู่การสร้างความยั่งยืน ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ลดคาร์บอน และอื่นๆ ถ้าไม่ทำก็จะไม่ซื้อหรือตั้งกำแพงภาษีจนขายไม่ได้ ให้เราพัฒนาสินค้าเกษตรไปสู่ความยั่งยืนโดยใช้ตลาดนำการผลิต ทั้งสองกลไกให้ความสำคัญกับเอสเอ็มอีและไมโครเอสเอ็มอี เป็นเรื่องดีที่ให้ความสำคัญจะเป็นฐานรากของการพัฒนาเศรษฐกิจเกษตร อุตสาหกรรมและการค้าของโลกต่อไป
“กระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญกับธุรกิจเพื่อนชาวม้งทั้งหลายที่เป็นเอสเอ็มอี ถ้าสินค้ามีศักยภาพ ผมให้ Handicap จะมีแต้มต่อ ต่อไปนี้การแสดงสินค้าที่ประเทศใกล้เคียง ผมให้เป็นนโยบายไปแล้ว รัฐบาลให้โอกาสอย่างน้อยกระทรวงพาณิชย์และผมให้โอกาสการออกบูธต่างประเทศ เปิดโอกาสให้เอสเอ็มอีที่มีศักยภาพ ร่วมออกบูธกับกระทรวงได้ส่วนหนึ่ง” นายจุรินทร์ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ธ.ค. 65)
Tags: จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์, ส่งออก, เศรษฐกิจไทย