นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมโคนมของไทยในปัจจุบันมีพัฒนาดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสามารถตอบสนองความต้องการบริโภคนมของคนไทยได้เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันมูลค่าการส่งออกสินค้านมและผลิตภัณฑ์นมของไทยไปตลาดต่างประเทศก็เติบโตต่อเนื่อง โดยในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ต.ค.65) การส่งออกนมและผลิตภัณฑ์นมไปตลาดโลกมีมูลค่า 499.3 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 2.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะตลาดคู่ความตกลงการค้าเสรี (FTA) การส่งออกมีมูลค่า 470 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 3% สัดส่วนสูงถึง 94.1% ได้แก่ จีนขยายตัว 27.9% ฮ่องกงขยายตัว 13.1% ญี่ปุ่นขยายตัว 121.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น นมพร้อมดื่มยูเอชที นมถั่วเหลืองที่มีนมผสม เครื่องดื่มอื่นๆ ที่มีนมผสม นมเปรี้ยวและโยเกิร์ต
อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ปัจจุบันไทยมี FTA อยู่ 14 ฉบับกับ 18 ประเทศคู่ค้า ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนการขยายตัวของการส่งออกนมและผลิตภัณฑ์นมของไทย โดยอาเซียน จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี และฮ่องกง ได้ยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้านมและผลิตภัณฑ์นมนำเข้าจากไทยทุกรายการแล้ว ส่วนอีก 4 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย และเปรู ที่ลดภาษีนำเข้าสินค้านมและผลิตภัณฑ์นมบางส่วนให้แต่ยังไม่เป็นศูนย์ เช่น ญี่ปุ่น นม 21.3-25.5% โยเกิร์ต 21.3-29% ชีส 22.4-40%, เกาหลีใต้ นม 26.8% โยเกิร์ต 28.8% ชีส 36% ส่วนอินเดีย ไม่เก็บภาษีนำเข้านมเปรี้ยวและโยเกิร์ตจากไทยแล้ว แต่ยังคงเก็บภาษีนำเข้านมที่อัตรา 20-60% เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ภายใต้ความตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ญี่ปุ่น เก็บภาษีเครื่องดื่มนมที่มีนมผสมอัตรา 9-12.6% ซึ่งจะทยอยลดภาษีนำเข้าลงเหลือศูนย์ ในปี 2580
ปัจจุบันไทยเป็นผู้ส่งออกนมและผลิตภัณฑ์นมเป็นอันดับที่ 7 ของโลก และเป็นอันดับที่ 1 ในอาเซียน โดยไทยส่งออกนมและผลิตภัณฑ์นมไปตลาดอาเซียนสัดส่วนสูงถึง 82% โดยตลาดอาเซียนที่ขยายตัว ได้แก่ กัมพูชา สัดส่วน 38% (+5.3%) สปป.ลาว สัดส่วน 15.8% (+2.2%) เมียนมา สัดส่วน 15.2% (+0.2%) เวียดนาม สัดส่วน 4.4% (+2.3%) สำหรับสินค้านมและผลิตภัณฑ์นมที่ไทยส่งออกไปอาเซียนเพิ่มขึ้น ได้แก่ นมพร้อมดื่มยูเอชที นมเปรี้ยวและโยเกิร์ต นมถั่วเหลืองที่มีนมผสมเครื่องดื่มอื่นๆ ที่มีนมผสม และเนยแข็ง
นอกจากนี้ Future Food หรือ อาหารอนาคต ยังเป็นหนึ่งใน Mega Trend ที่ทั่วโลกให้ความสนใจ เนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคหันมาใส่ใจสุขภาพ เลือกรับประทานอาหารที่สะอาดและเสริมคุณค่าทางโภชนาการมากขึ้น โดยสินค้านมและผลิตภัณฑ์นมจึงเป็นสินค้าที่เข้ากับกระแสดังกล่าว และสามารถสร้างโอกาสทางการค้าได้ด้วย FTA โดยผู้สนใจข้อมูลเกี่ยวกับ FTA สิทธิประโยชน์ทางการค้า กฎระเบียบทางการค้า และมาตรการทางภาษีและมาตรการที่มิใช่ภาษี สามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่ FTA Center ชั้น 3 กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ Call Center 0 2507 7555 หรือสามารถสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ http://ftacenter.dtn.go.th
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ธ.ค. 65)
Tags: FTA, นม, ส่งออก, ส่งออกนม, อรมน ทรัพย์ทวีธรรม