กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) เปิดเวทีระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนในอำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง ต่อ “ร่างแผนพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง” เพื่อผลักดันปากพะยูนมุ่งสู่เมืองท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ที่มีความมั่นคงทางอาหาร บนพื้นฐานการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล
นายเรวัต จันทนงค์ หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชน กรมการท่องเที่ยว ในฐานะประธานการประชุม กล่าวว่า อำเภอปากพะยูน มีต้นทุนสูงทางการท่องเที่ยวทั้งธรรมชาติ และวัฒนธรรม และจะได้โอกาสครั้งสำคัญจากโครงการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวระหว่างจังหวัดสงขลา และจังหวัดพัทลุง ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา โดยสามารถพัฒนาต่อยอดไปสู่จุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวใหม่ของพัทลุงในอนาคตอันใกล้ กรมการท่องเที่ยวจึงริเริ่มจัดทำร่างแผนพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกภาคส่วนตั้งแต่เริ่มต้น โดยได้ร่วมกับ ททท. ลงพื้นที่เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ และความต้องการในพื้นที่ ก่อนจะกำหนดกรอบแนวทางร่างแผนพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
ทางด้าน ดร.แก้วตา ม่วงเกษม หัวหน้าคณะที่ปรึกษาโครงการฯ ได้นำเสนอ ร่างแผนพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง พ.ศ. 2566 – 2570 ซึ่งมีวิสัยทัศน์ คือ “มุ่งสู่เมืองท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ทีมีความมั่นคงทางอาหาร บนพื้นฐานการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างมีส่วนร่วม และพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล”
ร่างแผนพัฒนาดังกล่าว เกิดจากการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ใน 5 ด้าน คือ โครงสร้างพื้นฐานเพื่อคุณภาพชีวิตตามมาตรฐานสากล พัฒนาบุคลากร พัฒนาระบบจัดการสิ่งแวดล้อมแบบองค์รวม พัฒนาเชิงวัฒนธรรม และอัตลักษณ์ของพื้นที่ และยกระดับการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบเพื่อปกป้องความั่นคงทางอาหารของพื้นที่ ชูการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว 3 รูปแบบ
การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวมาจาก 3 รูปแบบ คือ
- หลาดปากยูน เป็น Green Market เน้นความมีเอกลักษณ์ของตลาดสดท่าเรือปากพะยูน ซึ่งสะท้อนความเป็นแหล่งอาหารที่เกิดจากความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรท่ามกลางการอยู่ร่วมกันของผู้คนอย่างกลมกลืน ซึ่งสามารถพัฒนาไปสู่เทศกาลอาหาร ชูวัตถุดิบท้องถิ่น การทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ
- มิวเซียมรังนก เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่พัฒนาไปสู่ศูนย์กลางการเรียนรู้อนุรักษ์รังนกนางแอ่นธรรมชาติ (มิวเซียมรังนก) แห่งแรกในประเทศไทยจากแหล่งรังนกนางแอ่นธรรมชาติที่ ตำบลเกาะหมาก ซึ่งมีการเตรียมความพร้อมทั้งในด้านเนื้อหา และศักยภาพในการรองรับนักท่องเที่ยว
- “ลุงแลนด์ แกรนด์พัทลุง” เป็นแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติที่ถูกค้นพบใหม่ มีภูมิทัศน์ของหินผาบนที่ราบกว้างที่สวยงามโดดเด่นแตกต่างจากที่อื่น นำไปสู่การพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยวที่เหมาะสมกับตัวตนของพื้นที่ และเชื่อมโยงไปสู่ชุมชนใกล้เคียง
โดยรูปแบบการท่องเที่ยวตามแผนพัฒนาฯ เน้นให้ความสำคัญกับการสื่อสารและสืบทอดอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ทั้งในด้านอาหาร ประเพณีท้องถิ่น ภาษา ไปจนถึงดนตรี
ด้าน นางสาววรรณภา เกียรติพงษา ผู้อำนวยการกองสร้างสรรค์สินค้าการท่องเที่ยว ฝ่ายสินค้าการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ชี้ว่า การให้ความสำคัญกับแหล่งท่องเที่ยวสีเขียว หรือ Green Destinations ในระดับสากลตามเกณฑ์ของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (GSTC-D) จำเป็นต้องแสวงหาจุดร่วมของการพัฒนาที่เกิดประโยชน์ต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจในพื้นที่ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่การประเมินการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ อำเภอปากพะยูน มีเรื่องราวของความเชื่อมโยงระหว่างผู้คน และพื้นที่ แม้จะมีกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบ เช่น สัมปทานรังนกนางแอ่น การประมง แต่ชุมชนก็มีธรรมนูญแห่งการปกป้องนิเวศจนสามารถรักษาความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรมาได้อย่างยาวนานกว่า 133 ปี เกิดความมั่นคงทางอาหาร และการดำเนินชีวิตที่เรียบง่าย แต่มีคุณค่า
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 ธ.ค. 65)
Tags: กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, ท่องเที่ยว, ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม, ปากพยูน, เรวัต จันทนงค์