นายวโรฤทธิ์ จีระชน Head of Investment Research บลจ.ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ในปี 66 เศรษฐกิจสหรัฐจะชะลอตัวหรือถดถอยเล็กน้อยในช่วงครึ่งปีแรก ดังนั้นตลาดอาจผันผวนได้มาก ส่วนยุโรป ก็คาดว่าจะเกิดเศรษฐกิจถดถอยจากผลกระทบของสงครามรัสเซีย-ยูเครนยืดเยื้อจนถึงต้นปีหน้า ขณะที่เศรษฐกิจญี่ปุ่น จะเติบโตได้เพียงเล็กน้อย จึงมองว่าความน่าสนใจของการลงทุนในตลาดหุ้นจะมาอยู่ที่กลุ่มตลาด EM อย่างจีนและเวียดนาม เพราะคาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตได้ดี
สำหรับเวียดนาม มูลค่าหุ้นลดลงไป 30% เมื่อเทียบกับช่วงต้นปี เนื่องจากมีประเด็นการจำกัดโควตาสภาพคล่องที่ธนาคารปล่อยกู้ได้ ซึ่งปี 66 คาดว่าจะมีการให้เครดิตโควตาชุดใหม่ อีกทั้งตลาดหุ้นเวียดนาม เป็นตลาดที่นักลงทุนใช้บัญชีมาร์จิ้นซื้อขายกันมาก ในช่วงตลาดขาลงจึงถูกบังคับขายหุ้น (Force Sell) เมื่อไม่สามารถชำระหลักประกันเพิ่มได้ จึงมองลงทุนระยะยาวได้ แนะนำ “ทยอยซื้อสะสม”
ส่วนตลาดหุ้นในประเทศพัฒนาแล้วแม้จะมีความน่าสนใจน้อยกว่า แต่ก็ยังมีกลุ่มที่ราคาปรับลดลงมามากแล้ว อย่าง เซมิคอนดักเตอร์ รวมถึงกลุ่มหุ้นขนาดกลาง-ขนาดเล็กที่ปกติจะทำผลงานได้ดีกว่าหุ้นขนาดใหญ่ในช่วงหลังจากเศรษฐกิจถดถอยผ่านพ้นไป ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังของปี 66
“นักลงทุนสามารถรอให้ตลาดลงไปถึงจุด bottom ก่อนแล้วเข้าไปซื้อทีหลังก็ได้ เพราะจากการศึกษาพบว่ามีโอกาสที่ดีกว่าการเข้าไปซื้อในช่วงก่อนถึงจุดต่ำสุด” นายวโรฤทธิ์ กล่าว
ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องระวังในปีหน้า คือ การเกิดเศรษฐกิจถดถอยซ้ำรอบสอง โดยคาดว่าจะเริ่มเห็นความกังวลในประเด็นนี้ช่วงปีหน้าว่าอาจจะเกิดการถดถอยซ้ำในปี 67 หากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกรอบเพื่อสู้เงินเฟ้อ ก็จะทำให้ความหวังที่สินทรัพย์เสี่ยงจะปรับขึ้นช่วงครึ่งปีหลังพังลงได้
นายชาญวุฒิ รุ่งแสงมนูญ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บลจ.เอ็มเอฟซี กล่าวว่า เศรษฐกิจสหรัฐในปี 66 น่าจะชะลอตัวลง แต่คงไม่ถดถอย คาดว่าจะเติบโตได้ 0.4% แต่ถ้ามองรายไตรมาสก็มีโอกาสค่อนข้างสูงที่จะเกิดการถดถอยทางเทคนิค คือเศรษฐกิจติดลบ 2 ไตรมาสติดกันในไตรมาส 1-2 ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ทำให้เฟดต้องหยุดการขึ้นดอกเบี้ย ส่วนในยุโรป คาดว่าเศรษฐกิจจะถดถอยเช่นกันแต่ไม่มาก ราว -0.1 ถึง -0.2% เริ่มตั้งแต่ไตรมาส 4/65 และอาจไปถึงไตรมาส 2/66 การฟื้นตัวน่าจะช้ากว่าสหรัฐฯ ขณะที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นคาดว่าจะเติบโตแค่ 1.4-1.5%
ช่วงเวลาเช่นนี้ การลงทุนในตลาดเกิดใหม่จึงน่าสนใจ อันดับแรกมองที่จีน ตามด้วยเวียดนาม เพราะมูลค่าหุ้นค่อนข้างดีทั้งคู่ แต่จีนมีโอกาสฟื้นตัวก่อนหากผ่อนคลายมาตรการ Zero Covid เพราะประชากรมีเงินออมสูงพร้อมใช้จ่ายเมื่อเปิดเมือง แนะสะสมหุ้นจีนได้ตั้งแต่ไตรมาส 1/66 ส่วนเวียดนามน่าสนใจจากเรื่องราวการเติบโตที่ดี แต่มีความเสี่ยงเรื่องการจัดการภายใน
สำหรับตลาดสหรัฐฯ หากต้องการลงทุน ควรเน้นหุ้นเชิงรับที่การเติบโตแข็งแกร่ง ผลการดำเนินงานดี ปันผลสม่ำเสมอ คัดเลือกหุ้นรายตัวยังมีโอกาสที่ดี ส่วนยุโรป เน้นกลุ่มโลจิสติกส์ หรือกลุ่มที่มีรายได้หลักจากนอกยุโรป และยังเติบโตได้ดี มากกว่าการลงทุนบนดัชนีภาพรวม
ด้านการลงทุนในตราสารหนี้ แนะนำให้ทยอยสะสมพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวที่จะได้ประโยชน์เมื่อผลตอบแทนตราสารหนี้ (Bond Yield) ลดลงมากกว่าพันธบัตรระยะสั้น ส่วนหุ้นกู้ควรเน้นกลุ่ม Investment Grade ขณะที่สินทรัพย์ทางเลือก กลุ่มทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ต่างประเทศ (Global REIT) โดยเฉพาะเอเชีย มีความน่าสนใจ เพราะมีโครงสร้างจ่ายเงินปันผลสูงและการเติบโตสูง เน้นธีมโลจิสติกส์ ธีมเปิดเมือง
นายบดินทร์ พุทธอินทร์ ผู้อำนวยการส่วนกลยุทธ์การลงทุน บลจ.อีสท์สปริง (ประเทศไทย) กล่าวว่า เศรษฐกิจสหรัฐไม่น่าจะถึงขั้นถดถอยในปี 66 อาจเติบโตได้เล็กน้อย โดยให้น้ำหนัก 40% ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะเติบโตแบบบางๆ และให้น้ำหนัก 40% ว่าจะเกิดเศรษฐกิจถดถอยแบบปานกลาง (Mild Recession) ขณะที่ให้น้ำหนักแค่ 20% ว่าจะเกิดเศรษฐกิจถดถอยรุนแรง
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐถดถอยหรือไม่นั้น คือ การเปิดประเทศของจีน เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐเชื่อมโยงทางการค้าและการลงทุนกับจีนค่อนข้างสูง หากจีนยังเปิดประเทศไม่ได้ภายในกลางปี 66 สหรัฐฯ ก็อาจเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอย และหากเปิดประเทศไม่ได้จนถึงปลายปี เศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็มีโอกาสถดถอยรุนแรง
ส่วนยุโรป เวลานี้เริ่มเห็นสัญญาณเศรษฐกิจชะลอตัวแล้ว คาดว่าเศรษฐกิจจะถดถอยแบบไม่รุนแรง ในไตรมาสที่ 2-3/66 ส่วนญี่ปุ่น ไม่น่าจะเกิดเศรษฐกิจถดถอย และปัจจุบันยังเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย และมีมาตรการการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจอยู่
ด้วยปัจจัยด้านเศรษฐกิจนี้ ทำให้มองว่าตลาดเกิดใหม่ในเอเชียคงจะมีความน่าสนใจลงทุนมากกว่าตลาดพัฒนาแล้ว ในปี 66 โดยช่วงครึ่งปีหลังแนวโน้มการฟื้นตัวของตลาดน่าจะมาจากการเปิดประเทศของจีน คาดว่าจะเกิดขึ้นในไตรมาส 2/66 ซึ่งจะทำให้ตลาดเกิดใหม่ที่ค้าขายกับจีนได้ประโยชน์
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 ธ.ค. 65)
Tags: ญี่ปุ่น, บดินทร์ พุทธอินทร์, รัสเซีย, วโรฤทธิ์ จีระชน, เวียดนาม, เศรษฐกิจสหรัฐ