นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนา “Thailand Next Move 2023” ว่า เศรษฐกิจไทยปี 2566 เป็นปีที่ต้องเจอกับความท้าทายหลักจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งเป็นผลจากที่ธนาคารกลางของประเทศเศรษฐกิจพร้อมใจกันปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งเหมือนกันการเหยียบเบรก เร็ว แรง ทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ส่งผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น และยังมีความเสี่ยงจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ราคาพลังงานสูงขึ้น และความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจจีน
“เศรษฐกิจโลกในรอบนี้ จะมีความเสี่ยงมาจากหลากหลายปัจจัย มีผลกระทบในหลายมิติ รวมถึงความเสี่ยงตลาดการเงินโลกที่มีความผันผวนไม่น้อย หลัก ๆ จากการขึ้นดอกเบี้ยเร็ว และแรงในหลายประเทศ ซึ่งโดยปกติ การขึ้นดอกเบี้ย ประเทศที่มีหนี้สูงก็จะมีปัญหา เมื่อน้ำลดตอก็ผุด แต่ไม่มีใครตอบได้ว่าตอจะโผล่ตรงไหน สภาวะตอนนี้ เทียบเคียงฝนตก ถนนมืด อุบัติเหตุเกิดขึ้นตรงไหน ตอนไหนก็ได้ ไม่มีใครทราบ” ผู้ว่าการ ธปท.กล่าว
ทั้งนี้ ยังเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจไทยยังโตได้ต่อเนื่อง แม้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง การส่งออกไทยถูกผลกระทบเติบโตเหลือ 1% แต่จะถูกฟื้นด้วยการบริโภคภายในประเทศ และการท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่าปี 65 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยจะอยู่ที่ 10 ล้านคน และปี 66 ประมาณ 20 ล้านคน ซึ่งเป็นตัวช่วยเอื้อและสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 65 จะขยายตัวได้ระดับ 3% ต้นๆ ส่วนปี 66 ขยายตัวได้ 3.7% แม้จะมีความเสี่ยงให้เศรษฐกิจชะลอ แต่โอกาสที่จะเติบโตได้สูงกว่า 3% ก็มีไม่น้อย
“ถ้าเทียบกับประเทศอื่น ความเข้มแข็งด้านต่างประเทศเราค่อนข้างดี ความเปราะบางไม่ค่อยมี ปีนี้มองว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดจะขาดดุล แต่ปีหน้า การฟื้นตัวท่องเที่ยวก็จะส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเกินดุล ก็จะเสริมเรื่องความแข็งแกร่งของมิติต่างประเทศ เป็นภูมิคุ้มกันช่วยให้ผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจในปีหน้า แม้ว่าเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกจะมีความผันผวนไม่น้อย” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
พร้อมมองว่า ในระยะยาว เศรษฐกิจโลกจะมีการเปลี่ยนแปลงไม่น้อย กระแสความยั่งยืนจะเข้ามาทำให้จำเป็นต้องมีการปรับตัว ซึ่งเป็นโจทย์ที่ ธปท.ต้องให้ความสำคัญ ทำให้ภูมิทัศน์การเงินสามารถรองรับการเติบโตอย่างยั่งยืน การทำนโยบายต่าง ๆ ทั้งในระยะสั้น และการวางรากฐานในระยะยาว ต้องมีแนวทางในการทำงาน คือรักษาความสมดุลให้เหมาะสม ไม่สามารถทำแบบสุดโต่งได้
มองไปข้างหน้า ในระยะสั้น โจทย์แรกของ ธปท. คือทำให้นโยบายการเงินเข้าสู่สภาวะปกติ โดยเป้าหมายหลักคือ ทำอย่างไรให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยสิ่งที่จะมาทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยไม่ต่อเนื่อง คือการที่เงินเฟ้อขยับเพิ่มสูงขึ้น และไม่กลับสู่ระดับที่เหมาะสม รวมไปถึงระบบการเงินหยุดชะงัก ซึ่งจะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไม่สามารถไปต่อได้
ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า ที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อสูงและต่อเนื่อง ส่งผลให้การฟื้นตัวเศรษฐกิจไปได้ไม่ต่อเนื่อง ระบบการเงินชะงัก สินเชื่อไม่เดิน เป้าหมายสำคัญ ธปท. คือ ทำอย่างไรให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง ซึ่งบทบาท ธปท. ต้องปรับนโยบาย โดยในช่วงวิกฤตโควิด-19 อาจต้องใช้ยาแรง แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว นโยบายการเงิน ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ซึ่งแตกต่างจากธนาคารกลางของประเทศอื่น แม้จะมีการตั้งคำถามว่า ธปท.ทำน้อยไปหรือไม่ ที่ขึ้นดอกเบี้ยเพียงครั้งละ 0.25% นั้น ขอยืนยันว่าแนวทางดังกล่าวเหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจไทยแล้ว
“ธปท.เริ่มขึ้นดอกเบี้ย ก่อนเศรษฐกิจไทยฟื้นกลับมาเท่าช่วงก่อนโควิด เราไม่ได้ทำช้าเกินไป ยังไม่เห็นเงินเฟ้อจากการบริโภคที่ร้อนแรง แต่มาจากราคาพลังงานเป็นหลัก” นายเศรษฐพุฒิ ระบุ
ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า โจทย์สำคัญที่สุดคือ รักษาเสถียรภาพ การทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป จะเห็นว่าได้ผล เงินเฟ้อที่เคยขึ้นไปถึงจุดสูงสุดที่ 7.9% ก็ทยอยปรับลดลงมาเหลือ 6.4% และล่าสุดในเดือนพ.ย.อยู่ที่ 5.5% แนวโน้มเงินเฟ้อก็ค่อย ๆ ลง มาจากฝั่งอุปทานเป็นหลัก และคาดว่าเงินเฟ้อจะเข้าสู่กรอบเป้าหมายที่ 1-3% ภายในครึ่งหลังของปี 2566
ขณะที่การฟื้นตัวเศรษฐกิจยังเดินหน้าต่อไปได้ ยังเห็นการเติบโตเกิน 3% ส่วนอีกโจทย์ คือการดูแลเสถียรภาพของระบบการเงิน ยังเห็นการเติบโตสินเชื่อ และความเข้มแข็งของสถาบันการเงิน การดำเนินนโยบายของ ธปท. ต้องหาจุดสมดุลเพื่อดูแลทั้งเงินเฟ้อ ดูแลการฟื้นตัวเศรษฐกิจ และระบบการเงิน ซึ่งการทำนโยบายจะตอบโจทย์เพียงอย่างเดียวไม่ได้
นอกจากการดูแลให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ต่อเนื่องแล้ว ยังต้องดูแลหนี้ครัวเรือน ให้อยู่ในระดับที่อยู่ได้อย่างยั่งยืน ขณะนี้อยู่ที่เกือบ 90% ของจีดีพี ซึ่งสูงกว่าที่ธปท.ต้องการเห็น การที่หนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูงเช่นนี้ อาจทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมีโอกาสสะดุด เปรียบเหมือนมีอะไรมาถ่วงตลอดเวลา ซึ่งหนี้ครัวเรือนควรอยู่ที่ระดับ 80% ดังนั้นจึงจำเป็นต้องใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อดูแลให้หนี้ครัวเรือนกลับมาสู่ระดับที่เหมาะสมอย่างยั่งยืน
แนวทางที่ดำเนินการคือ ต้องแก้หนี้อย่างครบวงจร ต้องดูทั้งก่อนเป็นหนี้ ระหว่างเป็นหนี้ และเริ่มมีปัญหาชำระหนี้ ถ้าจะดูให้ยั่งยืนต้องดูทั้งวงจร การแก้ไขต้องทำให้ถูกหลักการ ไม่ซ้ำเติมปัญหา อะไรที่ให้ผลเร็วและแรง อาจสร้างปัญหาในระยะยาว อะไรที่ไม่เหมาะคือ การทำมาตรการแบบปูพรมแบบช่วงโควิด เพราะสร้างผลข้างเคียง สร้างแรงจูงใจผิด ๆ และไม่ควรสร้างภาระให้ลูกหนี้มากขึ้น เช่น การพักหนี้ เพราะไม่ได้ทำให้ภาระหนี้หายไป เนื่องจากดอกเบี้ยยังวิ่งอยู่ อีกทั้งไม่ควรทำอะไรเพื่อลดโอกาสให้ลูกหนี้เข้าถึงสินเชื่อได้ในอนาคต เช่น ลบประวัติลูกหนี้ เป็นต้น
“ตอนนี้ ธปท. เร่งผลักดันให้ครบวงจรมากขึ้น ให้ความสำคัญก่อนที่จะก่อหนี้ ให้ความรู้ผู้กู้ และให้ความสำคัญกับการปล่อยหนี้ ดูแลเรื่องการปล่อยเงินกู้ด้วยความรับผิดชอบ ไม่สร้างภาระจนสูงเกินไปจนลูกหนี้รับไม่ไหว ซึ่งต้องมีจุดสมดุลในการเข้าถึงสินเชื่อได้ และไม่ก่อหนี้สูงเกินไป ซึ่งต้องใช้เวลา และการแก้ปัญหาฝั่งหนี้ โดยไม่แก้ปัญหาเรื่องรายได้ คงไม่ได้” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
นอกจากนี้ ยังต้องดูเรื่องกระแสความยั่งยืน และสิ่งแวดล้อม ซึ่งนโยบายของฝั่งประเทศที่พัฒนาแล้ว จะกดดันไทย ถ้าไม่ปรับตัว แต่การปรับตัวหรือการเปลี่ยนผ่านควรทำให้มีต้นทุนที่น้อยที่สุด ไม่ส่งผลกระทบวงกว้าง และร้ายแรง เพื่อให้เศรษฐกิจโดยรวมเติบโตได้ ไม่ทิ้งคนอยู่ข้างหลังซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำ ธปท. ต้องให้ภาคการเงินปรับตัวเอื้อให้เกิดการเปลี่ยนผ่าน เช่น ออกสินค้าบริการที่เอื้อต่อการเปลี่ยนผ่าน นำสิ่งแวดล้อมมาผนวกกับตลาดการเงินให้เป็นเรื่องปกติ
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า ธปท. ต้องวางโครงสร้างพื้นฐาน เช่น มาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Taxonomy) การให้นิยามที่ชัดเจนของธุรกิจสีเขียว อะไรที่ไม่ใช่ หรืออะไรที่มีความก้ำกึ่ง ซึ่งต้องมีการให้นิยามที่ชัดเจน และให้ธนาคารพาณิชย์สามารถนำไปปฏิบัติได้ โดยมีข้อกำหนด และแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนอเพื่อนำไปใช้ดำเนินการ
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการวางรากฐานเรื่องดิจิทัล โดยเป้าหมายของ ธปท.ในเรื่องนี้ค่อนข้างชัดเจน ด้วยการใช้นวัตกรรมทางการเงินมาสร้างประโยชน์และโอกาสให้กับเศรษฐกิจโดยไม่ให้เกิดผลกระทบด้านเสถียรภาพ ซึ่งปัจจุบันเรื่องดิจิทัลของประเทศไทยไม่ได้ล้าหลังไปกว่าประเทศอื่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Mobile Banking, Cross Border QR Payment รวมถึง Central Bank Digital Currency (CBDC)
“ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะภาคการเงินมานาน การเงินดิจิทัลจะเป็นโอกาสที่จะทำให้ประชาชน หรือธุรกิจใหม่ๆ เข้าถึงภาคการเงินได้มากขึ้น ธปท. จึงเน้นเรื่อง Responsible Innovation หรือนวัตกรรมที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ไม่ใช่นวัตกรรมที่สร้างความเสี่ยงจนเกินไป ดังนั้นหน้าที่ของ ธปท. คือต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเรื่องการเงินดิจิทัลให้เกิดขึ้นให้ได้” ผู้ว่าการ ธปท.กล่าว
โดย สิ่งที่ ธปท. ต้องดำเนินการต่อ คือ การต่อยอดระบบการชำระเงินหรือพร้อมเพย์ที่ปัจจุบันมีกว่า 70 ล้านบัญชี ไปสู่ Cross Border ซึ่งปัจจุบันมีกับหลายประเทศ และไทยเป็นประเทศแรกในโลกที่เชื่อมระบบ Fast Payment ข้ามประเทศกับสิงคโปร์ รวมถึงจะมีการพัฒนาระบบการชำระเงินไปสู่ภาคธุรกิจ หรือ PromptBiz ที่จะช่วยให้ภาคธุรกิจทำธุรกรรมด้านการเงินได้อย่างครบวงจร ซึ่งจะช่วยลดต้นทุน และเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อให้ภาคธุรกิจได้
ในส่วนของ Central Bank Digital Currency (CBDC) ธปท. ได้ทำใน 2 ฝั่ง คือ 1.การทำธุรกรรมระหว่างสถาบันการเงิน (Wholesale CBDC) เพื่อให้การโอนเงินระหว่างประเทศมีต้นทุน ระยะเวลา และความเสี่ยงลดลง และ 2.การทำธุรกรรมรายย่อยของภาคธุรกิจและประชาชน (Retail CBDC) ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนของการศึกษา เพื่อให้เข้าใจความต้องการของผู้ใช้ ซึ่งจะเอื้อในการนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ ธปท.ยังให้ความสำคัญในการเพิ่มผู้เล่นรายใหม่โดยใช้ Virtual Bank ซึ่งคาดว่าจะออกหลักเกณฑ์ได้ในเดือน ม.ค.66 โดยจะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 ธ.ค. 65)
Tags: ธนาคารแห่งประเทศไทย, ธปท., หนี้ครัวเรือน, เงินเฟ้อ, เศรษฐกิจไทย, เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ