นายฉันทานท์ วรรณเขจร เลขาธิการ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรในปี 2566 คาดว่า จะขยายตัวอยู่ในช่วง 2.0 – 3.0% โดยมีปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำตามธรรมชาติที่มีเพียงพอสำหรับการทำเกษตร การดำเนินนโยบายและมาตรการของภาครัฐด้านการเกษตรในทุกมิติอย่างต่อเนื่อง และเศรษฐกิจไทยปี 2566 ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 2566 ยังมีปัจจัยเสี่ยงและสถานการณ์สำคัญที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง ทั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่มีความแปรปรวนมากขึ้น ราคาปัจจัยการผลิตที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ทั้งราคาน้ำมัน ปุ๋ย สารเคมีกำจัดโรคและแมลง และวัตถุดิบอาหารสัตว์ การระบาดของโรคพืชและสัตว์ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ เศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัว ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อ รวมถึงความไม่แน่นอนของสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่อาจกลับมาระบาดเป็นวงกว้างอีกครั้ง ซึ่งส่งผลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศและเศรษฐกิจโลก
ขณะที่ปี 2565 ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรขยายตัว 0.8% เมื่อเทียบกับปี 2564 โดยสาขาพืช สาขาบริการทางการเกษตร และสาขาป่าไม้ ขยายตัว ขณะที่สาขาปศุสัตว์และสาขาประมงหดตัว
ปัจจัยสนับสนุน คือ ปริมาณน้ำฝนในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 มีมากกว่าปีที่ผ่านมา ทำให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำที่สำคัญและในแหล่งน้ำตามธรรมชาติมากขึ้น เพียงพอสำหรับการเพาะปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ และทำประมง รวมถึงสภาพอากาศโดยทั่วไปที่เอื้ออำนวย ทำให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูกมากขึ้น
ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดในช่วงปีที่ผ่านมาอยู่ในเกณฑ์ดี จูงใจให้เกษตรกรเพิ่มการผลิตและมีการบำรุงดูแลรักษามากขึ้น การดำเนินนโยบายและมาตรการของภาครัฐ และความร่วมมือของทุกภาคส่วนในด้านต่าง ๆ อาทิ การส่งเสริมอาชีพเกษตร ทั้งด้านการใช้เทคโนโลยีในการผลิต และใช้ปัจจัยการผลิตอย่างเหมาะสมเพื่อลดต้นทุนการผลิต การเฝ้าะวังโรคพืชและสัตว์ การบริหารจัดการน้ำ และให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรที่ประสบภัยพิบัติ การยกระดับสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพมาตรฐาน และบริหารจัดการสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด รวมถึงการขยายช่องทางการตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ทำให้เกษตรกรสามารถทำการผลิตได้ต่อเนื่อง และมีช่องทางในการจำหน่ายสินค้าเกษตรมากขึ้น
มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ อาทิ โครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” และ “คนละครึ่ง” ทำให้คนไทยมีการเดินทางท่องเที่ยวและใช้จ่ายในการบริโภคสินค้าเกษตรและอาหารเพิ่มขึ้น การผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 การเปิดประเทศ และเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว นอกจากนี้ เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าปรับตัวดีขึ้น และความเชื่อมั่นในคุณภาพสินค้าเกษตรของไทย ส่งผลให้การส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ขยายตัวได้มากขึ้น
ส่วนปัจจัยลบ คือ ปรากฏการณ์ลานีญาที่มีกำลังแรงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี รวมถึงอิทธิพลของลมมรสุมและพายุที่เข้ามาหลายระลอกในช่วงไตรมาส 3 โดยเฉพาะ พายุ “โนรู” ที่พัดเข้าไทยโดยตรงในช่วงปลายเดือนกันยายน ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากเกือบทั้งประเทศ
ขณะที่มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ และแหล่งน้ำธรรมชาติสะสมอยู่มาก ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคเหนือ ซึ่งพื้นที่ทางการเกษตรและผลผลิตบางส่วนได้รับความเสียหาย ประกอบกับราคาปัจจัยการผลิตที่สูงขึ้น ทั้งราคาน้ำมัน ปุ๋ย สารกำจัดศัตรูพืช และวัตถุดิบอาหารสัตว์ ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรสูงขึ้น ความกังวลเกี่ยวกับการระบาดของโรคสัตว์ ทำให้มีการชะลอการเลี้ยง ควบคุมปริมาณการผลิต
นอกจากนี้ ปัจจัยภายนอกประเทศ อาทิ ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อ มาตรการ Zero-COVID ของจีน และเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ของไทย
เมื่อพิจารณาแต่ละสาขา พบว่า
– สาขาพืช ขยายตัว 2.1% เนื่องจากปริมาณน้ำที่มีเพียงพอสำหรับการเพาะปลูกพืช รวมถึงราคาสินค้าพืชหลายชนิดอยู่ในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง จูงใจให้เกษตรกรขยายการเพาะปลูกและเอาใจใส่ในการบำรุงดูแลผลผลิตพืชมากขึ้น แม้ว่าในช่วงปลายไตรมาส 3 ต่อเนื่องถึงไตรมาส 4 บางพื้นที่ของประเทศจะได้รับผลกระทบจากฝนที่ตกหนักและปัญหาน้ำท่วม ทำให้ผลผลิตบางส่วนเสียหาย แต่การผลิตพืชส่วนใหญ่ยังคงเพิ่มขึ้น โดยพืชสำคัญที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปรัง อ้อยโรงงาน สับปะรดโรงงาน ปาล์มน้ำมัน ลำไย และทุเรียน ส่วนพืชที่ลดลง ได้แก่ มันสำปะหลัง ยางพารา มังคุด และเงาะ
– สาขาปศุสัตว์ หดตัว 3.0%โดยสินค้าปศุสัตว์ที่ลดลง ได้แก่ สุกร ไข่ไก่ และน้ำนมดิบ สำหรับสุกรมีผลผลิตลดลง เนื่องจากปริมาณแม่พันธุ์สุกรในระบบลดลงจากความกังวลเกี่ยวกับการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร ขณะที่เกษตรกรบางส่วนชะลอการเลี้ยงจากราคาพันธุ์สุกรและอาหารสัตว์ที่ปรับตัวสูงขึ้น ไข่ไก่มีผลผลิตลดลง เนื่องจากการดำเนินมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาไข่ไก่ โดยมีการปรับลดปริมาณแม่ไก่ยืนกรง และน้ำนมดิบมีผลผลิตลดลง เนื่องจากการระบาดของโรคลัมปีสกินในโคนม ทำให้แม่โคผสมพันธุ์ติดยาก และรีดนมได้ลดลง
สินค้าปศุสัตว์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ไก่เนื้อ และโคเนื้อ โดยไก่เนื้อมีผลผลิตเพิ่มขึ้นจากการขยายการผลิตเพื่อรองรับความต้องการของตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ และโคเนื้อมีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากเกษตรกรมีการควบคุมและป้องกันโรคระบาดอย่างเข้มงวด รวมทั้งภาครัฐมีการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคลัมปีสกินในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง
– สาขาประมง หดตัว 2.0% เนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวน มีมรสุมเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับราคาน้ำมันที่สูงขึ้นส่งผลต่อต้นทุนการทำประมง โดยสัตว์น้ำที่นำขึ้นท่าเทียบเรือมีปริมาณลดลงอย่างมาก ขณะที่ปลานิลและปลาดุกมีผลผลิตลดลงเช่นเดียวกัน เนื่องจากเกษตรกรบางรายลดปริมาณการปล่อยลูกพันธุ์ปลาเพื่อลดภาระต้นทุนค่าอาหารที่สูงขึ้น ประกอบกับฝนตกชุกต่อเนื่องในช่วงเดือนสิงหาคม 2565 และอิทธิพลของพายุโนรูในช่วงปลายเดือนกันยายน 2565 ส่งผลให้เกิดอุทกภัยในแหล่งเลี้ยงปลานิลและปลาดุกในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
อย่างไรก็ตาม กุ้งทะเลเพาะเลี้ยงมีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากเกษตรกรมีการบริหารจัดการที่ดีขึ้น แม้ว่าเกษตรกรบางส่วนยังคงประสบปัญหาการระบาดของโรคกุ้ง เช่น โรคขี้ขาว ไวรัสตัวแดงดวงขาว โรคหัวเหลือง และต้นทุนอาหารที่เพิ่มขึ้น
– สาขาบริการทางการเกษตร ขยายตัว 2.7% เนื่องจากปริมาณน้ำที่มีเพียงพอ ทำให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรัง และราคาอ้อยโรงงานที่อยู่ในเกณฑ์ดี ทำให้มีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกพืชชนิดอื่นมาปลูกอ้อยโรงงานมากขึ้น ส่งผลให้การจ้างบริการเตรียมดินและเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวนาปรังและอ้อยโรงงานเพิ่มขึ้น
– สาขาป่าไม้ ขยายตัว 2.0% เนื่องจากผลผลิตไม้ยูคาลิปตัส ถ่านไม้ ครั่ง และรังนกเพิ่มขึ้น โดยไม้ยูคาลิปตัสเพิ่มขึ้นตามความต้องการใช้ในการแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล และอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น การผลิตเยื่อกระดาษ การก่อสร้าง ถ่านไม้เพิ่มขึ้นตามความต้องการใช้ภายในประเทศของธุรกิจโรงแรม และร้านอาหาร, ครั่งเพิ่มขึ้นจากการส่งเสริมการเลี้ยงภายในประเทศ และมีความต้องการเพื่อเป็นวัตถุดิบสำคัญในอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมยา อุตสาหกรรมหมึกพิมพ์ เป็นต้น และรังนก มีความต้องการจากประเทศจีนอย่างต่อเนื่อง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ธ.ค. 65)
Tags: GDP, ฉันทานท์ วรรณเขจร, สศก., เศรษฐกิจการเกษตร