ดัน 5 โครงการแก้น้ำท่วม-น้ำแล้งเข้า กนช. ส่งท้ายปี 65

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาทรัพยากรน้ำ และคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการโครงการพัฒนาทรัพยากรน้ำจำนวน 5 โครงการ ก่อนเสนอให้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) พิจารณาในวันที่ 29 ธ.ค.นี้

โดยเป็นโครงการในความรับผิดชอบของกรมชลประทาน 3 โครงการ ซึ่งเป็นการดำเนินการตามแผนหลักการบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง 9 แผนงาน ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เคยมีมติเห็นชอบไว้แล้ว ได้แก่

– โครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง มีแผนการดำเนินงาน 6 ปี (พ.ศ.2567-2572) เมื่อแล้วเสร็จจะเพิ่มอัตราการระบายน้ำจากเดิม 210 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที เป็น 400 ลบ.ม.ต่อวินาที สามารถป้องกันและลดปัญหาน้ำท่วมได้ 276,000 ไร่ ผลประโยชน์จากการบรรเทาอุทกภัยเฉลี่ยปีละ 5,085 ล้านบาท นอกจากนั้นยังสามารถเก็บกักน้ำในระบบช่วงฤดูแล้ง 18 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี เพิ่มผลประโยชน์ด้านน้ำอุปโภค-บริโภคเฉลี่ยปีละ 227.7 ล้านบาท

– โครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก มีแผนการดำเนินงาน 4 ปี (พ.ศ.2568-2571) เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถเพิ่มการระบายน้ำในพื้นที่ตอนบนผ่านโครงข่ายคลองในแนวเหนือ-ใต้ได้อีก 150 ลบ.ม./วินาที และสามารถเพิ่มศักยภาพในการเก็บกักน้ำและระบายน้ำของแก้มลิงคลองมหาชัย คลองสนามชัย อีกทั้งยังสามารถเก็บน้ำในคลองช่วงฤดูแล้งได้อีก 13 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณปีละ 4,055 ล้านบาท

– การขอขยายระยะเวลาและกรอบวงเงินโครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จากเดิม 5 ปี (พ.ศ.2562-2566) เป็น 8 ปี (พ.ศ.2562-2569) เนื่องจากที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขแบบก่อสร้าง โดยเมื่อโครงการแล้วเสร็จจะสามารถระบายน้ำสูงสุด 1,200 ลบ.ม.ต่อวินาที ช่วยบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ตัวเมืองพระนครศรีอยุธยาและพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง รวมถึงเพิ่มศักยภาพแหล่งน้ำสำหรับการใช้ประโยชน์พื้นที่ด้านเกษตรกรรมในเขตพื้นที่โครงการและข้างเคียง

นอกจากนี้ยังมีโครงการในความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้แก่

– โครงการภายใต้แนวคิดในการพัฒนาการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของ กทม.ในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา แผนงานกลุ่มที่ 1 ระยะที่ 1 (เร่งด่วน) โดยเป็นการดำเนินการปรับปรุงระบบสูบน้ำ ระบบไฟฟ้า และระบบเก็บขยะ สถานีสูบน้ำพระโขนง และการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็กบริเวณคลองประเวศบุรีรมย์และคลองสาขาต่างๆ เพื่อเสริมประสิทธิภาพการระบายน้ำในพื้นที่

– โครงการก่อสร้างปรับปรุงขยาย กปภ. สาขาพังงา-ภูเก็ต โดยการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำดิบและกำลังการผลิตน้ำประปาและระบบท่อจ่ายน้ำไม่เพียงพอ ซึ่งจะช่วยให้ กปภ.สาขาภูเก็ต สามารถให้บริการน้ำประปาได้เต็มประสิทธิภาพ รองรับผู้ใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นประมาณ 35,000 รายในอนาคต และรองรับการจัดงาน Expo 2028 ที่จะจัดขึ้นที่จังหวัดภูเก็ตในปี 2571

ด้าน นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำ ประจำปี 2567 ภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี โดยมีผลสัมฤทธิ์ คือ เพิ่มความจุกักเก็บ 1,401 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 6.23 ล้านไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ 5.64 ล้านครัวเรือน พื้นที่ได้รับการป้องกัน 5.37 ล้านไร่ และมอบหมายให้เสนอต่อ กนช.พิจารณาตามขั้นตอน รวมทั้งได้ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินการจัดทำคู่มือดูแลและบำรุงรักษาแหล่งน้ำขนาดเล็ก โดยมอบหมายให้เร่งดำเนินการจัดทำคู่มือส่วนที่เหลือให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

พร้อมทั้งรับทราบผลการติดตามประเมินผลภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ระยะปี 61-65 และมอบหมายให้หน่วยงานเร่งรัดดำเนินการตามภารกิจในกลยุทธ์ แผนงานและโครงการที่ยังไม่ได้ดำเนินการและมีผลการดำเนินงานน้อยกว่าแผน โดยการวิเคราะห์ กำหนดค่าเป้าหมายและตัวชี้วัดในแต่ละกลยุทธ์ แผนงาน ให้ครอบคลุมและสอดคล้องสามารถเชื่อมโยงไปสู่การบรรลุเป้าหมายของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และเห็นควรให้ส่วนราชการเป็นพี่เลี้ยงให้กับหน่วยงานท้องถิ่นซึ่งยังขาดทักษะและความเชี่ยวชาญในการดำเนินงาน ให้สามารถทำงานได้ตามภารกิจที่ได้รับการถ่ายโอน รวมทั้งให้หน่วยงานติดตามประเมินผลโครงการตามแผนแม่บทฯ ที่ดำเนินการเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการปรับปรุงแนวทางการทำงานให้มีประสิทธิภาพ โดยผลการติดตามฯ จะนำเสนอต่อ กนช.ต่อไป

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ธ.ค. 65)

Tags: , , , ,
Back to Top