ธนาคารไทยพาณิชย์ จัดงาน SCB CIO FORUM 2023 จับมือพันธมิตรทางธุรกิจ ร่วมแชร์มุมมองพร้อมฉายภาพการลงทุนสำหรับปี 2566 และการสัมมนาในหัวข้อ “อวสานยุคดอกเบี้ยต่ำ ความท้าทาย และปัจจัยเศรษฐกิจที่รออยู่” โดยต่างเห็นตรงกันว่าอัตราดอกเบี้ยยังเป็นปัจจัยสำคัญต่อทิศทางลงทุน และเป็นปีที่ควรเน้นลงทุนในตราสารหนี้คุณภาพดี อยู่ในระดับ Investment Grade เน้นกระแสเงินสดรับมากกว่าการคาดหวังกำไรจากส่วนต่างราคาหุ้น แนะจับตาตลาดหุ้นจีน หลังเปิดประเทศครึ่งหลังปี 2566 คาดหนุนตลาดหุ้นเอเชียสดใส
นายกำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าทีม SCB Chief Investment Office กล่าวว่า ปี 2566 อัตราดอกเบี้ยยังเป็นปัจจัยสำคัญกับการลงทุน ซึ่ง SCB CIO มองว่าแม้อัตราดอกเบี้ยของหลายประเทศในปี 2566 จะมีแนวโน้มขึ้นช้าลง แต่ยังเป็นขาขึ้นและค้างอยู่ในระดับสูงตลอดทั้งปี และเมื่อรวมกับผลของเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง จะทำให้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวอย่างพร้อมเพรียงกัน และมีความเสี่ยงเกิดเศรษฐกิจถดถอยในบางประเทศด้วย
นายสมชัย อมรธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนและลูกค้าสัมพันธ์ บลจ.กรุงไทย (KTAM) คาดการณ์ว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะขึ้นดอกเบี้ยไปที่ 1.75-2.00% ถือเป็นระดับที่เหมาะสม ส่วนประเด็นความไม่แน่นอนสูงยังคงมีอยู่ในปี 2566 มาจากการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ซึ่งคาดว่าจะขึ้นดอกเบี้ยไปถึง 5% ในไตรมาสแรกของปีหน้า แต่มีความเสี่ยงจากเงินเฟ้อไม่ปรับลง และปริมาณเงินในระบบที่สูง ซึ่งอาจทำให้มีความเสี่ยงที่เฟดยังต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยได้อีกในไตรมาสที่ 2-3
ส่วนประเด็นสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่กระทบกับราคาน้ำมัน ซึ่งน่าจะยังมีอยู่ และมีความขัดแย้งของประเทศอื่นแต่ไม่น่าจะนำไปสู่สงคราม นอกจากนี้ต้องจับตาประเทศที่มีการเลือกตั้ง เพราะอาจเป็นที่มาของความไม่แน่นอน ส่วนเรื่องเศรษฐกิจถดถอยมีความเป็นไปได้ว่าจะเกิดแบบเบาๆ หรืออาจเป็นเพียงแค่เศรษฐกิจชะลอตัว
สำหรับปี 2566 มองว่า การลงทุนในตราสารหนี้น่าสนใจ โดยเฉพาะช่วงครึ่งปีหลัง หากตลาดต่างประเทศเริ่มลดดอกเบี้ย โดยควรมองหาตราสารหนี้ที่คุณภาพดี อยู่ในระดับที่ลงทุนได้ (Investment Grade) หลีกเลี่ยงตราสารหนี้ความเสี่ยงสูง (High Yield Bond) เพราะหากเกิดเศรษฐกิจถดถอยรุนแรงกว่าที่คาดไว้ กลุ่มนี้จะมีปัญหาก่อน และควรหลีกเลี่ยงประเทศในตลาดชายขอบ (Frontier Market) ที่มีหนี้สูง
“การลงทุนที่คาดหวังผลตอบแทนจากการเติบโตมากๆ จะเหนื่อยมากขึ้น โดยหุ้นที่เคยทำผลงานได้ดี ในช่วงที่เศรษฐกิจเติบโตสูงๆ จะไม่ใช่หุ้นที่ทำผลงานได้ดี ในช่วงที่เศรษฐกิจเติบโตต่ำ” นายสมชัย กล่าว
ขณะที่นายปิยศักดิ์ มานะสันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยการลงทุน สายงานวิจัย บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ (InnovestX) กล่าวว่า กนง. น่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไปตามที่ส่งสัญญาณไว้ โดยคาดว่าปลายปี 2566 เงินเฟ้อน่าจะอยู่ในระดับ 2% ส่วนดอกเบี้ยก็จะอยู่ในระดับ 2% ขณะที่การเติบโตของเศรษฐกิจอาจอยู่ที่ 2-3% ส่วนการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ที่ในเดือน ธ.ค.65 ปรับขึ้นไป 0.50% แล้ว จากนั้นคาดว่าในเดือน ก.พ. และมี.ค.66 จะปรับขึ้นอีกครั้งละ 0.25%
“เมื่อพิจารณาสินทรัพย์ในปี 2566 มองว่า ตราสารหนี้น่าสนใจที่สุด โดยเฟดน่าจะขึ้นดอกเบี้ยต่อไปอีกระยะหนึ่ง แล้วอาจจะเปลี่ยนเป็นลดดอกเบี้ยก็ได้ ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นปรับลดลงแรง ดังนั้น การลงทุนในตราสารหนี้ที่มีระยะเวลาไม่ยาว อาจจะให้ผลตอบแทนที่ดี” นายปิยศักดิ์ กล่าว
ทั้งนี้ มีประเด็นที่น่าสนใจคือ ปัจจุบันบริษัทสหรัฐฯ กู้ยืมเงินค่อนข้างมาก หนี้ภาคเอกชนมีขนาด 80% ของเศรษฐกิจ และบริษัท 1 ใน 3 ที่กู้เงิน เป็นหุ้นกู้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่า Investment Grade ซึ่งการที่ดอกเบี้ยปรับขึ้นมา 3.75-4.00% แล้ว ทำให้ต้นทุนการเงินของบริษัทยิ่งเพิ่มมากขึ้น อาจทำให้บางธุรกิจมีปัญหา เสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ ล้มละลายมากขึ้น และทำให้ตลาดเกิดความผันผวนได้ ดังนั้นจึงควรระมัดระวังการลงทุนกลุ่มนี้
สำหรับการลงทุนในหุ้น ตลาดที่น่าสนใจ คือ จีน ซึ่งมีมูลค่าหุ้นน่าสนใจ เนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจปี 2566 น่าจะดี และถ้าจีนเปิดเมืองได้ก็จะยิ่งดีขึ้นไปอีก เรียกว่าจีนเป็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ของปี 2566 เลยก็ได้
ด้านนายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุน บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย) (UOBAM) กล่าวว่า กนง. อาจจะขึ้นดอกเบี้ยช้ากว่าที่ตลาดคาดไว้ เพราะปัจจัยที่เจอในปี 2566 ต่างจากปีนี้ คือ เฟดขึ้นดอกเบี้ยไปแล้วมีโอกาสจะหยุดขึ้น เงินบาทก็มีโอกาสกลับมาแข็งค่า จึงอาจทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องทบทวนนโยบายการเงิน นอกจากนี้ การเติบโตทางเศรษฐกิจก็ยังมีความไม่แน่นอนค่อนข้างสูง ขณะที่เงินเฟ้อปรับตัวลงมาแล้ว อาจไม่จำเป็นต้องใช้ดอกเบี้ยแรงๆ
“สิ่งที่น่าจับตาคือ ในปี 2566 เป็นเหมือนหนังภาคที่ 3 ภาคแรกคือปี 2564 ที่เงินเฟ้อปรับขึ้น ธนาคารกลางยังพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรดี แล้วสุดท้ายเงินเฟ้อก็สูงขึ้นมาจนนโยบายไล่ตามไม่ทัน ส่วนภาคที่ 2 คือ ปี 2565 ที่เจอเรื่องเงินเฟ้อ และมีปริมาณเงินในระบบสูงเป็นของแถม ทำให้เฟดขึ้นดอกเบี้ยจาก 0.5% ช่วงต้นปี เป็น 4.5% แล้ว ส่วนภาค 3 ที่จะถึงนี้ คือการเริ่มต้นปีด้วยต้นทุนที่สูงผิดปกติ ในกรณีที่เป็นบริษัท Investment grade ดีๆ ผู้ประกอบการต้องเริ่มระดมทุนด้วยผลตอบแทน 5-6% แต่ถ้าเป็นระดับต่ำกว่านั้น ต้องเสนอผลตอบแทนขั้นต่ำ 10% ซึ่งไม่แน่ใจว่า ใครอยากระดมทุนใหม่” นายจิติพล กล่าว
พร้อมเห็นว่า ช่วงเวลาเช่นนี้ ตลาดหุ้นคงยังไม่กลับมาเป็นภาวะกระทิงได้ทันทีหลังผ่านจุดต่ำสุด เพราะสิ่งที่ทั่วโลกเจอคือ ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนค่อยๆ ลดลง แต่ต้นทุนไม่ได้ลดลงมา ขณะที่ปัจจัยเรื่องเศรษฐกิจถดถอย อาจกลายเป็นปัจจัยบวกก็ได้ เพราะทั่วโลกเตรียมตัวรับมือดีขึ้น จึงอาจกลายเป็นโอกาสการลงทุนของคนที่เตรียมพร้อม
ส่วนปัจจัยบวกอีกเรื่องคือ จีน ที่คาดว่าจะเปิดเมืองได้ในไตรมาสแรก และเปิดประเทศได้สิ้นไตรมาสที่ 2 หรือปลายปี 2566 ซึ่งถ้าหากเกิดขึ้น เวลานั้นหุ้นทั่วโลกจะสดใส โดยเฉพาะเอเชีย
สำหรับสินทรัพย์ที่ควรหลีกเลี่ยงลงทุนในปี 2566 คือ กลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย รวมถึงสินค้าชิ้นใหญ่ที่ต้องกู้เงินซื้อ เพราะเริ่มต้นปีด้วยต้นทุนการเงินแตกต่างจากเดิมมาก รวมถึงหลีกเลี่ยงการลงทุนในประเทศเล็กๆ ในตลาดชายขอบที่เศรษฐกิจเปราะบาง ไม่มีผู้สนับสนุน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ธ.ค. 65)
Tags: SCB, SCB CIO FORUM, กำพล อดิเรกสมบัติ, จิติพล พฤกษาเมธานันท์, ตราสารหนี้, ตลาดหุ้นจีน, ตลาดหุ้นเอเชีย, ธนาคารไทยพาณิชย์, สมชัย อมรธรรม, อัตราดอกเบี้ย, เงินเฟ้อ