ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ประชาชนชาวอิหร่านได้ลุกฮือขึ้นออกมาประท้วงเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับการเสียชีวิตของน.ส.มาห์ซา อามินี วัย 22 ปี จากจุดนั้นเอง เหตุการณ์ได้ลุกลามบานปลายไปทั่วประเทศจนนำไปสู่การประท้วงเรียกร้องเสรีภาพสตรีและล้มล้างการปกครองครั้งประวัติศาสตร์ของอิหร่าน จนทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วมากกว่า 300 คน และปัจจุบันสถานการณ์เริ่มทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นไปอีกเมื่อรัฐบาลเริ่มใช้ไม้แข็งตอบโต้ผู้ชุมนุมด้วยการแขวนคอนักโทษที่มีคดีเชื่อมโยงกับการชุมนุมถึง 2 รายในเวลาไม่ถึง 1 สัปดาห์
วันนี้ In Focus ขอพาท่านผู้อ่านไปเจาะลึกที่มาที่ไปของเหตุการณ์ประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดของอิหร่านนับตั้งแต่การปฏิวัติอิสลามในปี 2522
จุดเริ่มต้นการประท้วงครั้งประวัติศาสตร์
เหตุการณ์ประท้วงที่เกิดขึ้นในเมืองต่าง ๆ ทั่วอิหร่าน เริ่มต้นขึ้นหลังจากการเสียชีวิตของน.ส.มาห์ซา อามินี วัย 22 ปี ในวันที่ 16 ก.ย. 2565 หลังถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจศีลธรรม (morality police) ของอิหร่านจับกุมตัวในกรุงเตหะราน จากการกระทำความผิดตามกฎข้อบังคับของอิหร่านที่กำหนดว่า ผู้หญิงจะต้องคลุมฮิญาบปิดบังใบหน้าและไม่ใส่เสื้อผ้ารัดรูปในที่สาธารณะ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างว่า น.ส.อามินีเสียชีวิต เนื่องจากล้มป่วยในระหว่างถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวร่วมกับผู้หญิงคนอื่น ๆ
อย่างไรก็ตาม บิดาของน.ส.อามินีย้ำว่า บุตรสาวของเขาไม่มีปัญหาสุขภาพ และกล่าวด้วยว่า น.ส.อามินีมีรอยฟกช้ำที่ขาทั้งสองข้าง และเรียกร้องให้ตำรวจแสดงความรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของบุตรสาว
มีรายงานว่า น.ส.อามินีถูกตำรวจใช้ไม้กระบองฟาดเข้าที่ศีรษะ แต่ทางตำรวจได้ออกมาโต้แย้งว่าเธอเสียชีวิตจากอาการหัวใจวาย พร้อมเปิดเผยภาพจากกล้องวงจรปิดที่แสดงให้เห็นว่าเธอทรุดล้มลงในศูนย์ปรับทัศนคติ ซึ่งเป็นสถานที่ที่เธอถูกตำรวจศีลธรรมให้คำแนะนำเกี่ยวกับการแต่งกายของเธอ
แต่ทว่า คลิปวิดีโอดังกล่าวประกอบกับภาพของน.ส.อามินีที่อยู่ในอาการโคม่า ยิ่งสุมไฟแค้นให้กับชาวอิหร่านมากยิ่งขึ้น
ไฟลามทุ่ง การประท้วงลามทั่วประเทศ
ความไม่พอใจก่อตัวขึ้นจนกลายเป็นการประท้วง ซึ่งการประท้วงครั้งแรกเกิดขึ้นภายหลังงานศพของน.ส.อามินีที่เมืองซาเกซ (Saqez) ทางตะวันตกของอิหร่าน ซึ่งเป็นบ้านเกิดของผู้เสียชีวิต โดยผู้หญิงหลายคนเริ่มถอดฮิญาบและนำมาโบกสะบัดไปมาเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการประท้วงเรียกร้องความยุติธรรมให้กับการเสียชีวิตของน.ส.อามินี และได้ปะทะกับเจ้าหน้าที่
ต่อมาไม่นาน การประท้วงครั้งนี้ได้รับเสียงสนับสนุนเป็นวงกว้าง ทำให้ชาวอิหร่านทั้งหญิงและชายในหลายสิบเมือง นักเรียน-นักศึกษา ตลอดจนผู้ที่มีชื่อเสียงหลายคนเริ่มลุกฮือขึ้นมาประท้วงด้วยเช่นเดียวกัน โดยผู้ประท้วงได้ออกมาสนับสนุนเสรีภาพของสตรี ตลอดจนเรียกร้องให้อยาตอลเลาะห์ คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน ลาออกจากตำแหน่ง
วิดีโอบนโซเชียลมีเดียยังเปิดเผยภาพ ผู้หญิงหลายคนถอดฮิญาบและโบกสะบัดไปมาพร้อมกับตะโกนขับไล่ผู้นำเผด็จการ รวมถึงวิดีโออื่น ๆ ที่แสดงให้เห็นรถจักรยานยนต์คันหนึ่งถูกเผาอยู่บนท้องถนนใกล้กับอาคารศาลยุติธรรมในกรุงเตหะราน
นอกจากนี้ ในการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งล่าสุด นักเตะทีมชาติอิหร่านได้พร้อมใจกันยืนสงบนิ่ง ไม่ร้องเพลงชาติก่อนการแข่งขัน เพื่อแสดงการสนับสนุนต่อการประท้วงที่เกิดขึ้นภายในประเทศ ขณะที่นักกีฬารักบี้หญิง นักกีฬาฟันดาบ และนักกีฬาเทควันโดก็พร้อมใจกันลาออกจากทีมเพื่อร่วมประท้วงในครั้งนี้ด้วยเช่นเดียวกัน
รัฐบาลอิหร่านไม่ยอมอ่อนข้อ เลือกใช้กำลังคุมสถานการณ์
รัฐบาลอิหร่านได้ใช้กำลังเข้าควบคุมสถานการณ์การชุมนุมอย่างรุนแรง โดยใช้ทั้งแก๊สน้ำตา กระสุนยาง ไม้กระบอง และกระสุนจริงในการสลายการชุมนุม จากวิดีโอของสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น ผู้ประท้วงคนหนึ่งระบุว่า กองกำลังรักษาความปลอดภัยที่เมืองแซนันดาจ (Sanandaj) ได้ยิงผู้คนที่บีบแตรประท้วงโดยไม่เลือกหน้าว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ และหากผู้บาดเจ็บไปโรงพยาบาลก็จะถูกตำรวจนอกเครื่องแบบเข้าจับกุม
ขณะเดียวกัน มีรายงานว่า อิหร่านได้สั่งปิดการทำงานของระบบอินเทอร์เน็ตทั่วประเทศในระหว่างทำการปราบปรามการชุมนุมที่นำไปสู่การนองเลือด พร้อมทั้งกล่าวหาอิสราเอลและสหรัฐว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการปลุกระดมประชาชนให้ลุกฮือประท้วงในครั้งนี้
นอกจากนี้ ทางการอิหร่านยังได้เรียกตัวเอกอัครราชทูตอังกฤษเข้าพบกรณีการรายงานข่าวที่เป็นปรปักษ์กับรัฐบาล โดยกล่าวหาว่าสำนักข่าวภาษาเปอร์เซียในกรุงลอนดอน “ประพฤติตัวเป็นศัตรู” รวมถึงเรียกตัวเอกอัครราชทูตของนอร์เวย์มาเพื่ออธิบายท่าทีแทรกแซงของนายมาซุด การักคานี ประธานรัฐสภานอร์เวย์ ซึ่งแสดงการสนับสนุนฝ่ายผู้ประท้วง
ล่าสุด ทางการอิหร่านได้ประหารชีวิตชาวอิหร่านที่มีความเกี่ยวข้องกับการชุมนุมด้วยวิธีแขวนคอไปแล้ว 2 คนในเวลาไม่ถึงสัปดาห์ โดยให้เหตุผลว่า ทั้งสองได้ทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่ อย่างไรก็ตาม กลุ่มนักสิทธิมนุษยชนระบุว่า หนึ่งในนั้นถูกทรมานให้รับสารภาพ นอกจากนี้ ทางสหพันธ์นักฟุตบอลอาชีพนานาชาติ (FIFPRO) ได้ออกมาระบุผ่านทางทวิตเตอร์เมื่อวันอังคาร (13 ธ.ค.) ว่า อาเมียร์ นัสร์-อัซดานี (Amir Nasr-Azadani) นักฟุตบอลอิหร่านวัย 26 ปี ต้องโทษประหารชีวิต เนื่องจากได้ออกมาเรียกร้องด้านสิทธิและเสรีภาพให้กับสตรีอิหร่าน
ท่าทีนานาชาติ ร่วมกันคว่ำบาตรตอบโต้อิหร่าน
สหภาพยุโรป (EU) ได้ประกาศคว่ำบาตรผู้นำระดับสูงของอิหร่านเมื่อวันจันทร์ (12 ธ.ค.) โดยการอายัดทรัพย์สินและสั่งห้ามมิให้เดินทางไปยังประเทศใน EU ซึ่งนายโจเซฟ บอร์เรล หัวหน้าเจ้าหน้าที่ทูตของ EU ยืนยันว่า “จะดำเนินการทุกอย่างเท่าที่ทำได้เพื่อสนับสนุนสตรีและผู้ประท้วงอย่างสันติ”
ขณะเดียวกัน สหรัฐและแคนาดาก็ได้จับมือกันเพื่อดำเนินการคว่ำบาตรเหล่าผู้นำระดับสูงของอิหร่านจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนของกลุ่มผู้ประท้วง โดยร่วมกันอายัดทรัพย์สินและจำกัดการมีส่วนร่วมในการทำธุรกรรมของบรรดาผู้นำเหล่านี้
ทั้งนี้ รัฐบาลสหรัฐได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับรายงานการจับกุมประชาชนจำนวนมาก การไต่สวนที่ไม่เป็นธรรม และการลงโทษประหารชีวิตผู้ประท้วงในอิหร่าน พร้อมระบุว่า การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่กระทำโดยรัฐบาลจะต้องได้รับผลที่ตามมา
นายเจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาวระบุในแถลงการณ์ว่า “สหรัฐยืนหยัดเคียงข้างคู่ค้าและพันธมิตรของเราทั่วโลก และจะยังคงดำเนินการกับผู้ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนผ่านมาตรการคว่ำบาตรและด้วยวิธีการอื่น ๆ” พร้อมเสริมว่า สหรัฐเห็นพ้องกับการดำเนินมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านรอบใหม่โดย EU และอังกฤษ
อย่างไรก็ตาม การประท้วงซึ่งเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายสิบปีของบรรดาผู้นำสูงสุดอิหร่านนั้น ยังไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุดลงง่าย ๆ หากรัฐบาลยังคงตอบโต้ด้วยความรุนแรงเช่นนี้ต่อไป การชุมนุมอาจยิ่งทวีความร้อนระอุขึ้นไปอีก เราคงทำได้เพียงติดตามดูกันต่อไปว่า สถานการณ์เลวร้ายในครั้งนี้จะนำการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบใดมาสู่อิหร่าน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ธ.ค. 65)
Tags: In Focus, มาห์ซา อามินี, สิทธิสตรี, อิหร่าน